การปลูกพริกขี้หนู
การปลูกพริกขี้หนู
พริกขี้หนู (Hot chilli) ถือเป็นพริกที่นิยมนำมารับประทานหรือนำมาใช้ประโยชน์มากในบรรดาพริกทั้งหลาย เนื่องด้วยเป็นพริกที่มีรสเผ็ดจัด สีแดงสดสวยงามเหมาะสำหรับการปรุงอาหารหรือนำมาแปรรูปเป็นพริกป่นสำหรับการประกอบอาหาร พริกขี้หนูสามารถปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 6.0 - 6.8 ปลูกได้ตลอดปี พริกขี้หนูเป็นพืชที่ใช้ ส่วนของผลบริโภค ในรูปของพริกสดและพริกแห้ง และสามารถใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด มีรสเผ็ด
พันธุ์พริกขี้หนู
พริกเป็นพืชที่ผสมเกสรด้วยตัวเองได้ และมีโอกาสผสมข้ามต้นหรือสายพันธุ์ได้ 9 – 32 % จึงทำให้ลักษณะพันธุ์มีความปรวนแปรมาก พันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พริกจินดา พริกมัน พริกเหลือง เป็นต้น ส่วนพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรส่งเสริมให้ปลูก คือ พันธุ์ห้วยสีทน เป็นพริกที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ และคัดพันธุ์ จากพริกพันธุ์จินดา มีลักษณะเด่น คือ ผลชี้ขึ้น ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีแดงจัด ความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เมื่อทำเป็นพริกแห้งจะให้สีแดงเข้มผิวเป็นมัน เหยียดตรง ผิวเม็ดเรียบ ก้านผลยาว และมีรสเผ็ดจัด ทรงต้นมีการแตกกิ่งได้ดี ประมาณ 3 – 5 กิ่ง ความสูงประมาณ 1-1.50 เซนติเมตร เป็นพริกปลูกได้ตลอดปี แต่การปลูกเพื่อทำพริกแห้งต้องกะระยะเก็บผลผลิตในฤดูแล้ง เพื่อสะดวกในการตาก การปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม และเก็บเกี่ยวช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งจะได้ราคาดี แต่มีขีดจำกัด คือ ต้องปลูกในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ หรือในเขตชลประทาน
1. พันธุ์นาเคนทร์1 (NAKENTR 1) จัดเป็นพันธุ์ลูกผสม (F1-hybrid) มีลักษณะเจริญเติบโตเร็ว แตกแขนงดี ผลดก เก็บผลผลิตได้นาน มีสีสวยเนื้อแน่น ขนาดผลประมาณ 2.5 x 18 ซม. ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 3-5 ตัน ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่มีสีแดงจัด เหมาะสำหรับบริโภคสด และแปรรูปอุตสาหกรรม ทำเป็นพริกบดหรือซอสพริก
2. พันธุ์นาเคนทร์2 (NAKENTR 2) จัดเป็นพันธุ์ลูกผสมลูกผสม (F1-hybrids) มีลักษณะเจริญเติบโตดี แต่แตกแขนงน้อย ทำให้ปลูกชิดได้ดี ผลดกปานกลาง ขนาดผลใหญ่ ประมาณ 3-17 ซม. มีสีผลเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีแดงจัด รสชาติไม่เผ็ดมาก เหมาะสำหรับทำซอสพริก และอุตสาหกรรมสกัดสี
3. พันธุ์ฮ๊อทชอต (HOT SHOT) มีลักษณะเจริญเติบโตดี ผลผลิตสูง แตกกิ่งมาก ทรงพุ่มกว้าง ประมาณ 50-60 ซม. ต้นสูงประมาณ 45-65 ซม. ผลมีสีเขียวอ่อน และสีแดงเข้ม ผลผลิตต่อต้นประมาณ 1.5 กก. อายุเก็บเกี่ยวหลังการย้ายกล้าที่ 3 เดือน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนานประมาณ 12 เดือน
4. พันธุ์มันดำ #02 (MUN DUM #02) เป็นพริกที่มีลักษณะมันดำ เติบโตดี ปลูกได้ตลอดปี ทรงพุ่มกว้างประมาณ 30-40 ซม. ต้นสูงประมาณ 35-40 ซม. ผลมีสีเขียว เขียวเข้ม และ สีแดงเข้ม ให้รสชาติเผ็ดปานกลาง มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ผลผลิตต่อต้น ประมาณ 1-2 กก. ผลแห้งหลังตากประมาณ 0.3 กก. จากผลสด 1-2 กก. อายุเก็บเกี่ยวหลังการย้ายกล้าประมาณ 75 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 90-120 วัน
5. พันธุ์หัวเรือ #03 (HOU RUA #03) มีลักษณะเจริญเติบโตดี ทนทานต่อโรค และแมลงได้ดี สามารถปลูกได้ทั้งปี แตกกิ่งมาก ทรงพุ่มกว้างประมาณ 50-60 ซม. ต้นสูงประมาณ 45-60 ซม. ผลมีสีเขียว และสีแดง ให้รสชาติเผ็ดจัด ผลผลิตสดต่อต้น ประมาณ 1.8-2.2 กก. ผลแห้งจากผลสด 1.8-2.2 กก. ได้สูงประมาณ 0.8 กก. อายุเก็บเกี่ยวหลังย้ายกล้าที่ 90 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 60-90 วัน
6. พันธุ์จินดา #04 (JINDA #04) มีลักษณะเติบโตดี สามารถปลูกได้ทั้งปี แตกกิ่งมาก ทรงพุ่มกว้างประมาณ 50-60 ซม. ต้นสูงประมาณ 45-60 ซม. ผลมีสีเขียว และสีแดง ให้รสชาติเผ็ดจัด ผลผลิตสดต่อต้น ประมาณ 1.5-2 กก. ผลแห้งจากผลสด 1.5-2 กก. ได้ประมาณ 0.7 กก. อายุเก็บเกี่ยวหลังย้ายกล้าที่ 90 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 60-90 วัน
7. กำแพงแสน 513 (KAMPHAENGSAEN 513) เป็นพันธุ์ที่เติบโต และให้ผลผลิตเร็ว ทรงพุ่มแข็งแรง ขนาดปานกลาง ต้านทานต่อโรค ติดผลดกมาก ผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน ผลสุกสีแดงเข้ม ขนาดผล 1.5×16 ซม. มีน้ำหนัก 18-19 กรัม/ผล ให้รสเผ็ดน้อย
8. ไพร็อท 498 (PILOT 498) เป็นพริกที่ให้น้ำหนักดี ผลใหญ่กว่าพันธุ์พื้นเมือง ผลมีลักษณะผอมยาว ขนาดผลประมาณ 1×17 ซม. ผลมีสีเขียวเข้ม ผลมีลักษณะหยักเป็นคลื่น และบิดเล็กน้อย ให้รสเผ็ด มักใช้ทำพริกแห้ง อายุการเก็บเกี่ยวหลังย้ายกล้าประมาณ 65-70 วัน
9. นครชัยศรี 010 (PEGASUS 010) เป็นพันธุ์ที่เติบโต และให้ผลผลิตได้เร็ว ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่สีแดง ให้เนื้อหนา ผิวเรียบ ขนาดผลประมาณ 2.4×13 ซม. น้ำหนักประมาณ 18 กรัม/ผล ให้รสเผ็ด ต้นโตเร็ว ติดผลดี อายุเก็บเกี่ยวหลังย้ายกล้าประมาณ 55-60 วัน
10. พลาซ่า 349 (PLAZA 349) มีลักษณะผลตรงยาว ผลสีเขียวอ่อนเป็นมัน ผิวเรียบสวยงาม ให้เนื้อหนา ผลดก ให้รสเผ็ดเล็กน้อย ขนาดผลประมาณ 2×18 ซม. อายุเก็บเกี่ยวหลังย้ายกล้าที่ 80 วัน
การเตรียมดินเพาะกล้า
ใช้จอบขุดหน้าดินลึก 15 - 20 ซม.(1 หน้าจอบ) เตรียมทำเป็นแปลงกว้าง 1 เมตร ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุกเคล้าดินกับปุ๋ย
ให้เข้ากันปรับหน้าดินให้ละเอียดและเรียบหว่านเมล็ดให้ทั่วแปลงใช้แกลบหรือฟางข้าวบางๆกลบหน้าดินรดน้ำให้ชุ่ม อายุของต้นกล้าที่ควรย้ายปลูก ประมาณ 25 - 30 วัน
การเตรียมแปลงปลูกและย้ายกล้า
ใช้จอบขุดหน้าดินลึก 15 - 20 ซม. ทำแปลงขนาดกว้าง 1 เมตรความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก คลุกเคล้ากับดินขุดหลุมปลูกโดยใช้ระยะห่างระหว่างต้น 30 ซม. ระหว่างแถว 70 - 80 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราส่วนหลุมละ 1/2 ช้อนชา ทับหน้าปุ๋ยเคมีด้วยปุ๋ยคอกหลุมละ 1 กะลามะพร้าว ถอน แยกต้นกล้าลงปลูก หลุมละ 1 ต้น รดน้ำตามให้ชุ่ม
การดูแลรักษา
การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น ทุกๆ 15 - 20 วัน โดยโรยห่างโคนต้น 5 ซม. และรดน้ำตามทันที
หรือจะใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์น้อยลงได้
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่าให้ขาดน้ำโดยเฉพาะช่วงแรกหลังย้ายปลูก
การพรวนดินกำจัดวัชพืช ควรพรวนดินและกำจัดวัชพืชในระยะแรก อย่าให้วัชพืชรบกวน จะแย่งอาหารได้
การเก็บเกี่ยว
พริกขี้หนูเป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวได้หลัง ย้ายกล้าลงปลูก 60 - 90 วัน การเก็บเกี่ยวควรเก็บทุกๆ 5 - 7 วัน โดยใช้วิธีเด็ดทีละผล อย่าเก็บทั้งช่อ เพราะผลแต่ละช่อแก่ไม่พร้อมกัน พริกขี้หนูสามารถเก็บได้ยาวนานถึง 6 เดือน
การแปรรูปพริกขี้หนู
1. พริกตากแห้ง
พริกที่ใช้ทำพริกตากแห้ง จะใช้พริกแก่ ซึ่งควรเก็บผลในระยะแก่จัดที่มีผลสีแดงจัดทั่วทั้งผล และควรเลือกผลที่ไม่ถูกโรคหรือแมลงทำลาย เพราะหากใช้พริกที่มีมีคุณภาพจะทำให้พริกแห้งมีสีไม่สวย และคุณภาพด้อยลง เมื่อเก็บผลพริกแล้วควรนำมาตากหรือทำให้แห้งโดยเร็วที่สุด โดยวิธี ดังนี้
1. การให้ความร้อนร่วมกับตากแดด โดยทำเป็นขั้นตอน ดังนี้
– ให้บ่มในกรณีที่เก็บพริกยังไม่แก่หรือมีสีแดงไม่ตลอดทั่วผล เพื่อผลพริกสุกเป็นสีแดงสม่ำเสมอกัน โดยเก็บรวมกันในเข่งที่ระบายอากาศได้ ประมาณ 2 คืน นอกจากนั้น ยังให้ความร้อนแก่พริกที่แก่สม่ำเสมอแล้วเพื่อให้มีสีสวย เช่น การนำไปลวกน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียส โดยน้ำร้อนที่ใช้ไม่ควรเป็นน้ำเดือด ประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงนำมาตากแดดให้แห้งตามขั้นตอนข้างต้น การลวกน้ำร้อนจะทำให้สีพริกสม่ำเสมอ ไม่ขาวด่าง และอีกวีธี คือการนำมาย่างไฟอ่อนๆ จนกระทั่งสุกเพื่อให้แห้งเร็วก่อนนำออกตากแดด
– นำมาตากแดด ภายหลังย่างแล้ว เพื่อให้พริกแห้งสนิท โดยตากแดดประมาณ 5 แดด แล้วสามารถเก็บบรรจุถุงใส่พลาสติก พร้อมผูกปากถุงให้แน่นสำหรับกันความชื้น
2. การตากแดด
– นำพริกสดหลังจากการบ่มให้มีสีแดงสม่ำเสมอแล้วหรือพริกแก่ที่เก็บจากไร่ที่สุกมีสีแดงสม่ำเสมอมาตากแดด ประมาณ 10-15 แดด หรือมากกว่านั้น ตามขนาดของผลพริก
– ขณะตากแดด ให้พริกกลับพริกวันละครั้ง เพื่อให้พริกแห้งสม่ำเสมอ
– พื้นหรือวัสดุรองตาก ควรทำจากไม้หรือพลาสติก ไม่ควรเป็นโลหะ เพราะหากใช้โลหะจะทำให้พริกเกิดการลวกไหม้ มีสีเหลืองหรือดำได้
3. การอบ
นำไปอบด้วยไอร้อนในเตาอบหรือนำไปอบด้วยเตาอบแสงอาทิตย์ ซึ่งจะร่นระยะเวลาในการทำให้แห้งได้เร็วขึ้น เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกเป็นจำนวนมาก และเหมาะกับการทำพริกแห้งในช่วงฤดูฝน
วิธีทำให้แห้งในข้อที่1 ข้อ 2 และ 3 นี้มีข้อดีตามมา คือ การฆ่าเชื้อโรค รวมถึงการทำลายไข่แมลงที่ติดมากับผลพริกตาย
ความชื้นของพริกแห้งก่อนเก็บใส่ถุงจะต้องไม่เกิน 14% ตามข้อกำหนดของสำนักงาน
มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
2. การผลิตพริกขี้หนูป่น (โรงงาน)
พริกป่น
1. พริกขี้หนูที่ใช้ต้องผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายควบคุมคุณภาพก่อนทุกครั้ง เพื่อคัดแยกผลพริกที่ไม่มีคุณภาพออก
2. พริกขี้หนูที่ผ่านการคัดแยกแล้วจะลงสู่เครื่องล้างพริกขี้หนู และถูกลำเลียงขึ้นจากอ่างล้าง
3. นึ่งพริกขี้หนู ที่ 90 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 นาที
4. พริกขี้หนูที่ผ่านการนึ่งจะเข้าเครื่องอบแห้งความชื้น โดยให้มีความชื้นสุดท้ายไม่เกิน 14% เป็นเวลา 30 นาที
5. พริกขี้หนูที่ผ่านการอบแห้งจะเข้าสู่การคั่วพริก เพื่อให้กรอบ และมีกลิ่นหอม โดยให้ได้ความชื้นของพริกขี้หนูในกระบวนการนี้ ไม่เกิน 6 %
6. นำพริกขี้หนูที่ผ่านการคั่วแล้วเข้าเครื่องโม่พริก เพื่อบดให้พริกกลายเป็นพริกขี้หนูป่นขนาดต่ำกว่า 2 มิลลิเมตร ความชื้นไม่เกิน 5% ซึ่งจะได้น้ำหนักพริกขี้หนูป่นที่ 95%ของน้ำหนักพริกขี้หนูตากแห้งที่ใช้ในการผลิต
7. บรรจุในบรรจุภัณฑ์ และชั่งน้ำหนัก พร้อมนำเก็บในสถานที่ป้องกันความชื้นได้ดี
No comments:
Post a Comment