วิธีการปลูกผักกระเฉด
วิธีการปลูกผักกระเฉด
ผักกระเฉด (Water mimosa) จัดเป็นพืชน้ำประเภทลอยน้ำในตระกูลถั่วที่มีอายุนานหลายปี นิยมนำมาประกอบอาหาร หรือกินเป็นผักสด โดยเฉพาะยอดอ่อนที่ให้เนื้อกรอบ มีรสมัน ในหลายเมนู อาทิ ผัดผักกระเฉด ยำผักกระเฉด แกงส้ม รวมถึงใช้รับประทานสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินเป็นผักคู่กับส้มตำ เป็นต้น
วิธีการปลูกผักกระเฉด แต่ละจังหวัดจะไม่ค่อยเหมือนกัน ซึ่งฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันตก ได้รวบรวมข้อมูลพบว่า มีวิธีการแตกต่างกัน สรุปได้ 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 การปลูกแบบดำกอ วิธีนี้นิยมเตรียมพื้นที่ปลูกได้ 2 แบบ คือ แบบร่องน้ำ และแบบสระน้ำ โดยแบบแรกจะขุดดินเป็นร่องน้ำลึก 1 เมตร กว้าง 4-5 เมตร ความยาวแล้วแต่พื้นที่หรือความเหมาะสม นำดินที่ขุดมาทำเป็นคันดินกว้างประมาณครึ่งเมตร สลับกับคูน้ำไปเรื่อยๆ คันดินนี้จะใช้เป็นทางเดินในการปฏิบัติงาน เช่น ขนผักที่ตัดแล้วออกมานอกแปลง ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ใส่ปุ๋ย ช้อนแหน ส่วนแบบสระน้ำจะขุดสระเป็นสี่เหลี่ยม ลึก 1 เมตร ความกว้างและความยาวของสระแล้วแต่ขนาดของพื้นที่
เมื่อเตรียมพื้นที่ปลูกเรียบร้อยแล้ว จะเปิดน้ำเข้าในร่องหรือสระให้น้ำลึกประมาณ 50 เซนติเมตร นำยอดพันธุ์ผักกระเฉดลงดำ กอละ 4-6 ยอด แต่ละกอห่างกันประมาณ 2 เมตร หลังจากปลูกแล้ว 15 วัน สามารถเก็บยอดไปจำหน่ายได้ และครั้งต่อไปจะเก็บทุกๆ 7 วัน โดยต้องมีการถ่ายน้ำ ใส่ปุ๋ย ช้อนแหนทุกครั้ง
วิธีที่ 2 การปลูกแบบให้ผักเกาะบนทุ่น วิธีนี้จะทำเฉพาะในคูคลองธรรมชาติที่มีน้ำไหลผ่านและไม่สามารถบังคับระดับน้ำได้ ทุ่นที่ให้ผักเกาะนิยมใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ วางยาวไปตามทางน้ำไหล อาจใช้ไม้ไผ่ลำเดียวหรือหลายลำผูกติดกันเป็นแพ ซึ่งแล้วแต่ขนาดของไม้ไผ่ ผูกทุ่นกับเสาหลักให้แน่น ใช้ยอดพันธุ์ยาวประมาณ 1 เมตร พาดบนทุ่นให้ส่วนยอดและส่วนโคนของยอดพันธุ์แช่อยู่ในน้ำ หลังจากนั้นประมาณ 50 วัน ก็สามารถจะเก็บยอดขายได้ การปลูกแบบนี้ นอกจากการดูแลรักษาทั่วๆ ไป คือพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ใส่ปุ๋ยแล้ว ต้องมีการตัดรากของผักและรื้อต้นเก่าออกเสียบ้าง เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไปจนถ่วงทุ่นจม เมื่อปลูกไประยะหนึ่งจะต้องมีการเสริมทุ่นหรือเปลี่ยนทุ่น เพราะทุ่นเดิมจะผุและจมน้ำ ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการถ่ายน้ำ และช้อนแหน
วิธีที่ 3 การปลูกแบบพาดข้างร่อง การปลูกแบบนี้จะต่างจากสองวิธีที่กล่าวมาแล้ว คือไม่ได้ใช้เฉพาะส่วนยอดเป็นแม่พันธุ์ แต่แม่พันธุ์จะยาวเพราะใช้ทั้งเถา ส่วนโคนของเถาแม่พันธุ์จะพาดอยู่ข้างร่องและหลังจากเก็บเกี่ยวยอดของแขนงข้างแต่ละครั้งไปแล้ว จะชักโคนเถาขึ้นมาไว้บนหลังร่องให้เฉพาะส่วนยอดของเถาแม่พันธุ์และแขนงแรกที่ไม่ได้ตัดยอดเท่านั้นที่แช่อยู่ในน้ำ
วิธีนี้เป็นการใช้ร่องน้ำหรือคูน้ำในสวนให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นการเสริมรายได้อย่างดี การพาดเถา ถ้าร่องน้ำกว้างเกิน 3 เมตร จะพาดเถาตรงกันทั้ง 2 ฝั่งร่องน้ำ แต่ถ้าร่องน้ำแคบกว่า 3 เมตร จะวางเถาสับหว่างกันให้แต่ละเถาห่างกันประมาณ 80 เซนติเมตร หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน จะเริ่มเก็บเกี่ยวโดยตัดยอดของแขนงได้ ซึ่งเถาหนึ่งจะตัดยอดแขนงข้างได้ประมาณ 5 ยอด ส่วนยอดของเถาแม่พันธุ์จะไม่ตัด
เทคนิคทำให้นมขาว
การเลี้ยงในแปลงน้ำตื้นที่มีน้ำนิ่ง เกษตรกรจะมีเทคนิคที่ช่วยให้นมต้นผักกระเฉดมีสีขาวสวย และยอดอวบ ด้วยการเลี้ยงแหนร่วมด้วย แหนนี้จะไปเกาะที่นมผักกระเฉดหรือยอดอ่อนซึ่งจะช่วยให้นมมีสีขาวสวยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องปล่อยแหนในปริมาณที่พอเหมาะ และต้องคอยกำจัดออกทุกเดือน เพราะหากมีจำนวนมากจะทำให้เกิดการแพร่กระจาย และระบาดในแหล่งน้ำใกล้เคียงได้
เทคนิคทำให้ยอดไม่มีนมติด
เทคนิคนี้ใช้เพื่อไม่ให้ยอดเกิดนมหุ้มติด โดยเฉพาะในส่วนยอดที่ใช้รับประทาน ด้วยการรวบต้นผักกระเฉด 5-8 ต้น มัดกับไม้ไผ่ตามความยาวของลำต้น โดยเว้นไม่รัดเชือกส่วนปลายยอด 10-15 ซม. เพื่อให้ปลายยอดชูขึ้นใกล้ผิวน้ำ ประมาณ 10-15 ซม. จากนั้น จับกดให้จมน้ำทั้งลำ โดยห้ามให้ยอดโผล่น้ำ แล้วใช้ไม้ตอกปักยึดไว้ ทั้งนี้ วิธีนี้จะใช้ได้ผลในกรณีที่ระดับน้ำไม่ลึกมากเท่านั้น แต่หากทำในระดับน้ำที่ลึกมากอาจทำให้ลำต้นเน่าตายได้
การเก็บยอดอ่อน
หลังจากการปลูกแล้ว 15-20 วัน จะสามารถเก็บยอดได้ ซึ่งต้องทยอยเก็บเป็นแปลงๆไป และเว้นช่วงห่างของการเก็บประมาณ 10-15 วัน สำหรับการเก็บครั้งต่อไป ส่วนการเก็บในบ่อน้ำลึกนั้น โดยทั่วไปจะมีช่วงการเก็บยอดที่นานกว่า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-50 วัน หลังการปล่อยเลี้ยง และมีระยะเก็บในครั้งต่อไปประมาณ 30-40 วัน เนื่องจาก การเลี้ยงแบบนี้ ผักกระเฉดจะได้รับสารอาหารที่น้อยกว่าการปลูกในแปลงน้ำตื้น
การเก็บยอดในแปลงน้ำตื้นนั้นทำได้ง่าย และสะดวกกว่าบ่อน้ำลึก โดยสามารถเดินลงเก็บในแปลงได้เลย ส่วนการเลี้ยงในบ่อน้ำลึกมักใช้เรือหรือต้องลอยน้ำหรือเดินในน้ำลึกเข้าเก็บซึ่งลำบากมาก
การเก็บควรเก็บในช่วงเช้าตรู เนื่องจากยอดผักกระเฉดจะเต่งตึง คลี่ยอดอ่อนออกสวยงาม โดยอาจใช้มือเด็ดหรือใช้มีดตัด แต่ทั่วไปเกษตรกรมักใช้มือเด็ด เพราะลำต้นหรือยอดผักกระเฉดสามารถเด็ดด้วยมือได้ง่าย
ความยาวในการเด็ดยอดที่ 20-30 ซม. สำหรับนำมาประกอบอาหารเอง ส่วนการเก็บเพื่อจำหน่าย เรามักพบเกษตรกรตัดยอดผักกระเฉดยาว 50-80 ซม. บรรจุใส่ถุง แต่ละถุงมีประมาณ 25-30 มัด แต่ละมัดมี 10-15 ต้น ทั้งนี้ การที่ตัดยอดยาว อาจเป็นเพราะแปลงปลูกหรือเลี้ยงมีระยะการเก็บที่ค่อนข้างนาน ซึ่งมักเป็นกับกอผักเกษตรที่กอใหญ่ และเป็นแปลงปลูกที่มีพื้นที่มาก ทำให้ผักกระเฉดเติบโตได้ยาวในช่วงเว้นการเก็บ ดังนั้น จึงต้องตัดยอดให้มีความยาวมากไว้ก่อน เพื่อง่ายต่อการจัดการ และกระตุ้นให้ผักกระเฉดแทงยอดใหม่ที่มากขึ้น
สำหรับผักกระเฉดที่ไม่มีนมจะมีราคาแพงมากกว่าผักกระเฉดที่มีนมติด
โรค และแมลงศัตรู
โรคที่มักเกิดกับต้นผักกระเฉด คือ โรคราน้ำค้าง ที่สังเกตได้จากเกิดเป็นจุดสีเหลืองบนใบ ทำให้ใบร่วง หากเกิดบนยอดจะทำให้ยอดกุด ยอดหยิกงอ ส่วนนมที่หุ้มลำจะลีบ และมีสีน้ำตาล
สำหรับแมลงศัตรูตามธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยชนิดต่างๆ อาทิ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เป็นต้น ซึ่งมักเข้าจับ และดูกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อนจนทำให้ยอดกุด ยออดหยิกงอไม่น่ารับประทาน นอกจากนั้น ยังพบหนอนกระทู้ และหนอนใยผัก ที่ชอบเจาะลำต้นผักกระเฉด ทำให้ผักกระเฉดหลุดขาด และเน่าตาย ส่วนด้วงหมัดผักในระยะหนอนจะชอบกัดกินรากอ่อน และตัวเต็มวัยจะชอบกัดกินใบ และยอดอ่อนทำให้ไม่มียอดหรือยอดขาด
ประโยชน์ผักกระเฉด
1. การปลูกหรือเลี้ยงผักกระเฉดถือเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท
2. ใบ และยอดอ่อนใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู รวมถึงใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกหรือเป็นผักกับส้มตำ
3. ผักกระเฉดใช้ปลูกหรือเลี้ยงในบ่อปลาเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของปลาวัยอ่อน รวมถึงใช้เป็นอาหารปลา
4. ผักกระเฉดใช้เลี้ยงในบ่อระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อกำจัดสาร BOD หรือ โลหะหนัก
สรรพคุณผักกระเฉด
1. ช่วยกระตุ้น และส่งเสริมการสร้างวิตามิน เอ จากสารเบต้าแคโรทีนที่พบมากในใบ และยอดอ่อน รวมถึงดอกอ่อน
2. ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อมหรือเป็นโรคตาอื่นๆ จากการเพิ่มวิตามิน เอ ของร่างกาย
3. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้แลดูสดใส ลดการหยาบกร้านหรือหมองคล้ำของผิว
4. ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายให้มีประสิทธิภาพ
5. ยอดอ่อนมีกากอาหารสูง ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นการขับถ่าย
6. ช่วยลดอาการร้อนใน
7. ช่วยบำรุงตับ และลดพิษสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อตับ
8. ยอดอ่อน และนมผักกระเฉดช่วยลดไข้
http://puechkaset.com/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%94/
http://knowledge.kasetbay.com/172-%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%94/653-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%94
No comments:
Post a Comment