การปลูกผักชีลาว
ผักชีลาว เป็นพืชในตระกูลเดียวกับผักชี เป็นผักสวนครัวที่มีความนิยมมากในประเทศไทยอีกชนิด เนื่องจากว่ามีประโยชน์หลายอย่าง ทานสดๆหรือจะนำไปประกอบอาหารเช่น แกงอ่อม หรืออาหารคาวอื่นๆเพราะดับกลิ่นได้ดี รวมถึงมีประโยชน์ทางยาด้วย
ผักชีลาว ลักษณะเป็นพืชล้มลุก สูง 40-170 เซนติเมตร ลำต้นเรียบตั้งตรง สีเขียวอ่อน มีข้อปล้องเห็นได้ชัดเจน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม ใบรูปขอบขนานถึงรูปไข่ สีเขียวสด ขอบใบหยักลึกเป็นแฉกแบบขนนกหลายชั้น ดอกมีสีเหลือง ออกดอกเป็นช่อ ส่วนผล รูปรี สีน้ำตาลอมเหลือง เมื่อเมล็ดแก่ จนดอกมีสีน้ำตาล สามารถนำมาทำตัวยาได้ เรียกตามตำรายาไทยว่า “เทียนตาตั๊กแตน”
โดยปกติแล้ว ผักชีลาว มักจะถูกเก็บต้นและใบสดก่อนออกดอก เพื่อนำมาใช้ทำอาหาร หรือ เป็นผักจิ้มลวกกินกับน้ำพริกต่าง ๆ มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 1 – 2 ปี
สำหรับใครที่สนใจอยากจะปลูกได้ทานเองหรือปลูกผักชีลาวขาย เป็นทั้งอาชีพเสริม หรืออาชีพหลัก หรือจะปลูกเป็นพืชผักผสมในแปลงเพาะปลูกที่มีอยู่ก็น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ให้มากขึ้น ดูวิธีการปลูกผักชีลาวกันเลย…
วิธีการปลูกผักชีลาว
การเตรียมดิน สภาพดินที่มีความเหมาะสมสมควรเป็นดินร่วน หรือดิน ร่วนปนทราย ก่อนปลูกควรทำการพรวนดินตากให้แห้ง เพื่อกำจัดเชื้อโรค แมลงศัตรูพืช และวัชพืชที่อยู่ในดิน ทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วัน หลังจากนั้นนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ที่สลายตัวดีแล้วมาใส่คลุกเคล้า ให้เข้ากับดิน หากทำแปลงดินขนาดกว้าง 1 – 1.2 เมตร ยาว 3 -4 เมตร ให้ใส่ปุ๋ย ประมาณ 30 – 40 เมตร ยาว 3 -4 เมตร ให้ใส่ปุ๋ย ประมาณ 30 – 40 กิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ของดิน ถ้าพบว่าดินมีสภาพ ความเป็นกรด ควรนำปูนขาว มาคลุกกับดิน เพื่อปรับสภาพ ของดินที่เหมาะในการเพาะปลูก
วิธีปลูก เริ่มจากการเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ด โดยนำเมล็ดพันธุ์บดให้แตกเป็นสองซีก แช่น้ำเปล่า นาน 2-3 ชั่วโมง นำมาคลุกเคล้าทรายละเอียดผสมเถ้าเล็กน้อย ทิ้งไว้จนกระทั่งรากเริ่มงอกประมาณ 1-2 วัน ก่อนนำมาหว่านให้ทั่วแปลง
วิธีปลูกผักชีลาวในแปลงเพาะ
เพาะต้นกล้า โดยเตรียมแปลงเพาะขนาดเล็ก แล้วผสมดินร่วน 1 ส่วน กับ ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และแกลบดำ 1 ส่วน พรวนดินให้เข้ากัน
จากนั้น ใช้ไม้หรือท่อน้ำตีเส้นเป็นแนวยาว แล้วหย่อนเมล็ดผักชีลาวลงไปตลอดทั้งแนว เสร็จแล้ว กลบดิน แล้วรดน้ำให้ดินชุ่ม อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ต่อไปอีก 1 เดือน จนกว่าต้นกล้าจะโตชึ้นประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร
พอต้นกล้าเริ่มแข็งแรงดีแล้ว ให้ย้ายลงแปลงใหญ่ โดยเตรียมแปลงเพาะขนาดใหญ่ พรวนดินให้ร่วนซุย แล้วใช้ไม้หรือท่อน้ำตีเส้นเป็นแนวยาว เว้นช่องว่างระหว่างแถวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร แล้วขุดให้เป็นหลุมลึก 3 – 4 เซนติเมตร ตลอดแนว โดยให้เว้นช่องว่างระหว่างหลุมประมาณ 5 เซนติเมตร
ถอนต้นกล้าลงแปลงใหญ่ โดยงัดต้นและรากขึ้นมาพร้อมกับดิน ลงในหลุม 3 – 4 ต้น/หลุม เพื่อให้เวลาโต ต้นผักชีลาวจะได้ไม่สูงเกินไป จนแก่เร็ว เสร็จแล้ว กลบดินให้เรียบร้อย ให้ลำต้นตั้งตรง
รดน้ำให้ดินชุ่ม อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง แล้วหาตาข่ายมาคลุม หรือ ฉีดพ่นสมุนไพรเพื่อไล่แมลงสม่ำเสมอ รอประมาณ 2 อาทิตย์ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว
วิธีปลูกผักชีลาวในกระถาง
แช่เมล็ดผักชีลาว ในน้ำอุ่น เป็นเวลา 3 – 4 ชั่วโมง จากนั้น กรองน้ำออกให้เมล็ดแห้ง
ผสมดินร่วน 1 ส่วน กับ ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และ แกลบดำ 1 ส่วน พรวนดินให้เข้ากัน เสร็จแล้ว นำดินใส่กระถาง เตรียมไว้
โรยเมล็ดผักชีลาวลงไปให้ทั่ว ๆ โรยดินทับลงไป แล้วรดน้ำให้ดินชุ่ม เสร็จแล้ว นำกระถางไปวางไว้ในที่ที่โดนแสงแดด รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ให้ดินชุ่มสม่ำเสมอ รอประมาณ 2 อาทิตย์ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว
การเลือกช่วงฤดูกาลปลูกผักชีลาว ควรอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ซึ่งข้อแตกต่างของแปลงที่ปลูกระหว่างช่วงฤดูแล้งกับช่วงฤดูฝน คือ ในช่วงฤดูแล้ง ลักษณะแปลงปลูกสามารถทำเป็นหลุม หรือ ทำแปลงดินขอบเสมอได้ ส่วนในช่วงฤดูฝน แปลงควรมีลักษณะ นูนสูงประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร หรือ ปลูกในพื้นที่พ้นจากน้ำเพื่อป้องกันน้ำขัง (ควรคลุมซาแรนป้องกันน้ำฝนในช่วงนี้ด้วย) สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผักชีลาว คือ ต้องมีความชื้นพอดี หากมีความชื้นมากเกินไปจะทำให้ใบเหลืองแห้ง และไม่สวยงามควรปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง และมีแสงแดด ไม่ควรปลูกอยู่ในร่มเงาไม้ ส่วนในช่วงฤดูแล้งที่มีแสงแดดจัด อาจจะต้องทำการป้องกันบ้างเล็กน้อย เช่น คลุมด้วยซาแลนช่วยพรางแสงแดด ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
วิธีการดูแลรักษา ผักชีลาว
การให้น้ำ หลังจากปลูกได้ประมาณ 7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก จนเมื่ออายุ ได้ 14 วัน จะมีลำต้นสูงประมาณ 10 – 1 5 เซนติเมตร มีใบ ออกมา 2 ใบ ให้รดน้ำจนชุ่ม ทุกวัน เช้า – เย็น อย่ารดจนแฉะ
การใส่ปุ๋ย เมื่อพืชอายุได้ 14 วัน ระหว่างให้น้ำให้ผสมน้ำหมักชีวภาพ เพิ่มเติมใส่ร่วมด้วยก็ได้ สำหรับการใส่ปุ๋ยคอก ให้ใช้เป็นมูลหมูแห้งโรยบริเวณ ชั้นบนแปลงปลูกบางๆ จนทั่วเดือนละ 1 – 2 ครั้ง
การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ให้หมั่นดูแลกำจัดวัชพืชอยู่ตลอด ด้านศัตรูพืชแทบไม่มีเลย ยกเว้นการปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นในแปลงเดียวกัน
วิธีการเก็บเกี่ยว เมื่อต้นผักชีลาวมีอายุประมาณ 40 วัน จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ โดยเลือกถอนต้นที่สมบูรณ์ มีความยาวระหว่าง 20 – 30 เซนติเมตร สามารถทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต ไปได้นาน 2 – 3 เดือน ในระหว่างทำการถอนต้นออกไปเรื่อยๆนั้นควรเหลือต้นที่สมบูรณ์อยู่ในแปลงไว้บ้าง เพื่อให้ต้นเหล่านี้ออกดอก สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในครั้งต่อไป แต่ถ้าหากไม่ต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ก็สามารถถอนนำไปจำหน่ายได้หมดเลย
ประโยชน์ของ ผักชีลาว
1. ให้พลังงานและสารอาหารที่มีประโยชน์
หากรับประทาน ผักชีลาว 100 กรัม จะได้รับพลังงาน 43 แคลอรี พร้อมกับสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย อาทิ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ วิตามิน A วิตามิน B รวม วิตามิน C แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และ ธาตุเหล็ก ครบครัน จึงเป็นผักที่ให้พลังงานและสารอาหารที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่ง
2. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง
ในผักชีลาว มีวิตามินหลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน B รวม และ วิตามิน C โดยเฉพาะในส่วนของ วิตามิน C ซึ่งจะเข้าไปช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ป้องกันความเสียหายของเม็ดเลือดขาว ที่อาจเกิดขึ้นจากสารอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ส่งผลให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น
3. ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
นอกจากมีวิตามินหลายชนิด ผักชีลาว ยังมีแร่ธาตุอย่าง แคลเซียม สูงอีกด้วย โดยในผักชีลาว 100 กรัม จะมีแคลเซียมมากถึง 208 มิลลิกรัม จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ที่มักเกิดในผู้สูงอายุได้อีกด้วย
4. ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานปกติ
ผักชีลาวก็เหมือนกับผักทั่วไป ที่มีเส้นใยหรือไฟเบอร์สูง ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ถ่ายอุจจาระได้ง่าย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาการท้องผูก ขับลมในลำไส้ และ อาการอึดอัดแน่นท้อง ปวดท้องได้
5. ช่วยเพิ่มน้ำนมและส่งผลดีต่อทารกในครรภ์
คุณแม่มือใหม่ควรรับประทานผักชีลาว เนื่องจากมีวิตามิน B1 ช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างพลังงานจากอาหารได้มากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับวิตามิน B9 หรือ กรดโฟเลต ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์ ให้เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ แข็งแรง
No comments:
Post a Comment