การปลูกชมพู่
การปลูกชมพู่
ชมพู่ (Rose Apple) เป็นไม้ผลเขตร้อนซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นพืชจัดอยู่ตระกูลเดียวกับฝรั่ง หว้า ยูคาลิปตัส เป็นพืชที่ชอบน้ำ จัดเป็นไม้ผลที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกุหลาบ ผลมีรสชาติหวานกรอบ คนไทยจึงนิยมปลูกเป็นไม้มงคลประจำบ้านชมพู่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ผลนอกจากจะใช้รับประทานสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เช่น เยลลี่ แยม และแช่อิ่ม เป็นต้น
วิธีการปลูกชมพู่
การเพาะขยายพันธุ์สามารถได้หลายวิธี อาทิ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง และการเสียบยอด และที่นิยมปลูก คือ การปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง และการเสียบยอด เพราะสามารถให้ผลผลิตเร็ว และลำต้นไม่สูงมากนัก ส่วนการปลูกจากต้นกล้าเพาะเมล็ดก็ทำได้เช่นกัน แต่ไม่ค่อยนิยมนัก เพราะกว่าจะติดผลต้องใช้เวลานาน 4-6 ปี
การกิ่งตอน
วิธีขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ถือเป็นวิธีที่นิยมมาก เพราะสะดวก และได้ต้นที่มีลักษณะเหมือนกับต้นแม่พันธุ์ดั้งเดิม อีกทั้ง สามารถขยายได้หลายต้นพร้อมๆกัน รวมถึงต้นที่เติบโตจะมีลำต้นไม่สูงนัก และให้ผลเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด
การตอนกิ่ง เริ่มจากคัดเลือกกิ่งที่ต้องการตอน โดยคัดเลือกกิ่งที่แข็ง ขนาดกิ่งประมาณนิ้วชี้ถึงนิ้วหัวแม่มือ เปลือกกิ่งมีสีเขียวอมน้ำตาล จากนั้น ใช้มีดตัดควั่นรอบกิ่งเป็น 2 รอย ที่ระยะห่างประมาณ 2-3 เซนติเมตร หรือเท่ากับเส้นรอบวงของกิ่ง จากนั้น ลอกเปลือกออก แล้วใช้มีดขูดเยื่อที่ผิวแก่นของกิ่งออกให้หมดจนถึงเนื้อไม้ แล้วนำถุงพลาสติกที่บรรจุด้วยขุยมะพร้าวชุ่มน้ำ ด้วยการผ่าถุงตามแนวขวางให้ลึกเกือบถึงขอบอีกด้าน และแบะถุงก่อนนำถุงมาหุ้มทับบริเวณรอยกรีดให้มิด ก่อนจะใช้เชือกฟางรัดเป็น 2 เปลาะให้แน่น ทั้งนี้ หลังจากการตอนแล้ว 30 – 45 วัน รอยแผลของกิ่งตอนจะเริ่มมีรากงอก และหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน รากจะเริ่มแก่เป็นสีน้ำตาลจึงค่อยตัดกิ่งลงปลูกในแปลงหรือปลูกดูแลในถุงเพาะเพื่อจำหน่ายต่อไป
การเสียบยอด
การเสียบยอดจะใช้วิธีเพาะเมล็ดเพื่อให้ต้นเติบโตก่อน โดยดูแลให้ต้นโตสักประมาณนิ้วชี้เพื่อใช้เป็นต้นตอ หลังจากนั้น ตัดต้นตอ ซึ่งอาจหลังปลูกลงแปลงแล้วหรือตัดขณะที่ยังอยู่ในถุงเพาะชำ แล้วค่อยตัดกิ่งชมพูที่มีขนาดเท่ากันมาเสียบยอดเป็นต้นใหม่
การทาบกิ่ง
การขยายพันธุ์แบบนี้ ยังไม่นิยมมากนัก เพราะใช้สำหรับต้นที่ต้องปลูกมาหลายปีที่แตกกิ่งบ้างแล้ว แต่มีข้อดีที่สามารถทำให้มีชมพู่หลายชนิดรวมอยู่บนต้นเดียวกันได้
การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
แปลงปลูกครั้งแรกจะต้องไถพรวน และกำจัดวัชพืชออกให้หมด จากนั้นขุดหลุมปลูก กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร แล้วตากหลุมไว้ประมาณ 5-7 วัน โดยมีระยะปลูกหรือระยะหลุมประมาณ 8-10 x 8-10 เมตร ทั้งนี้ แปลงปลูกในที่ลุ่มควรขุดร่อง และทางระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมร่วมด้วย
การปลูกชมพู่
หลังจากหลุมนาน 5-7 วันแล้ว ให้หว่านรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก พร้อมคลุกผสมกับหน้าดินให้เข้ากัน จากนั้น นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในหลุม พร้อมกลบหน้าดินให้พูนขึ้นเล็กน้อย ก่อนปักด้วยไม้ไผ่ และรัดด้วยเชือกฟาง และอาจนำฟางข้าวหรือเศษใบไม้มาคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นให้หน้าดิน
การให้น้ำชมพู่
1. ระยะเริ่มปลูกใหม่ๆ
การให้น้ำ ควรให้น้ำวันละครั้ง หรือ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าต้นชมพู่จะตั้งตัวได้ แต่หากในฤดูฝนที่มีฝนตกเกือบทุกวันก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ
2. ระยะหลังต้นชมพู่ตั้งตัวได้
หลังที่ต้นติด และตั้งต้นได้ การให้น้ำจะเว้นระยะการให้เป็น 3-5 วัน/ครั้ง การให้น้ำจะให้ตามปกติขณะที่ต้นชมพู่ยังไม่ติดดอกออกผล ถ้าหากเป็นช่วงฤดูแล้งจะต้องให้น้ำอย่างน้อยประมาณ 5-7 วัน ต่อ 1 ครั้ง โดยสังเกตความชื้นของดินเป็นหลัก การให้น้ำแต่ละครั้งจะให้เต็มแอ่งที่ล้อมรอบต้นชมพู่ จนกว่าต้นชมพู่จะออกดอก แล้วจึงทิ้งระยะให้น้ำแห้งไปประมาณ 10-14 วัน เพื่อเป็นการทำให้ต้นชมพู่ออกดอก ในช่วงนี้ถ้าหากดินมีความชื้นจากการได้รับน้ำฝน ก็จะทำให้ต้นชมพู่ออกดอกน้อย และไม่พร้อมกัน หลังจากที่ต้นชมพู่ออกดอกแล้วจึงจะให้น้ำอย่างปกติและเต็มที่ทุกวันหรือ 3-5 วัน/ครั้ง จนกว่าดอกจะเริ่มบานเมื่อต้นชมพู่ติดผลในระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ต้นจะขาดน้ำไม่ได้จนกว่าต้นจะให้ผลแก่ และจะงดให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 5-7 วัน เพื่อเป็นการเพิ่มความหวานให้กับผลได้
การควบคุมวัชพืช
ในระยะปลูกใหม่ควรใช้จอบถากเดือนละครั้ง และควรไถพรวนรอบต้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของวัชพืช ส่วนหลังจากปีที่ 2 แล้ว ให้เว้นระยะห่างการกำวัชพืชเป็น 2-3 เดือน/ครั้ง จนต้นมีทรงพุ่มใหญ่ค่อยกำจัดวัชพืชปีละครั้งก็เพียงพอ
การใส่ปุ๋ย
1. ระยะต้นที่ยังไม่ให้ผลผลิต (อายุ 1-3 ปี)
– ใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ต้นละประมาณ 500 กรัม/ปี โดยแบ่งใส่ 2-3 ครั้ง
– ในปีที่ 2-3 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปีละ 1 ครั้ง อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ต้น และปุ๋ยเคมี 15-15-15 ปีละ 2 ครั้ง อัตรา 300-500 กรัม/ต้น/ครั้ง
2. หลังจากปีที่ 3 ที่ชมพู่เริ่มผลิดอกออกผล
– การใส่ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ จะต้องใส่ให้เพียงพอที่จะเลี้ยงต้น และผล ซึ่งหลังเก็บผลชมพู่หมดแล้วให้ทำการตัดแต่งกิ่งชมพู่ประจำปี ถ้ามีผลชมพู่ตอนนี้ต้องปลิดทิ้งไป เพื่อให้ต้นชมพู่ได้พักต้น
– หลังตัดแต่งกิ่งแล้ว ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยทุกครั้ง
– ใส่ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ทุกครั้งที่ออกผลปีละประมาณ 3-5 ครั้ง โดยเริ่มใส่ตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง
การตัดแต่งกิ่งชมพู่
วิธีการตัดแต่งกิ่งต้นชมพู่ จะทำครั้งแรกเมื่อต้นชมพู่ยังมีขนาดเล็ก ในระยะนี้จะต้องตัดแต่งให้ได้รูปทรงของลำต้น และกิ่งแตกออกให้ได้สัดส่วน การตัดแต่งกิ่งจะทำหลังจากการปลูกต้นชมพู่ไปได้สักพัก จนต้นชมพู่ตั้งตัวได้ และเริ่มมีการแตกกิ่งออกมาถึงจะทำการตัดแต่งกิ่ง ส่วนการตัดแต่งกิ่ง ในระยะนี้ ต้นชมพู่จะมีรูปทรงที่แน่น มีกิ่งแตกออกมามากมาย การตัดแต่งจะทำการตัดเอากิ่งที่มีลักษณะเป็นกระโดงออก เหลือไว้ติ่งด้านข้างให้กระจายออกไปในแนวกว้าง เพื่อให้ได้ลักษณะทรงพุ่มเตี้ย ในกรณีที่ต้นมีกิ่งแตกออกมาน้อยมาก และไม่ได้รูปทรงให้ตัดกิ่งเหลือแต่กิ่งกระโดงเอาไว้ เพื่อเป็นกิ่งเสริมให้มีกิ่งมากขึ้น และได้สัดส่วน ส่วนการตัดแต่งกิ่งที่นอกเหนือไปจากนี้ ก็ควรทำบ้างตามความเหมาะสมของต้นชมพู่
การตัดแต่งกิ่งในต้นชมพู่ต้นโตหรือต้นที่ออกผลผลิตแล้ว โดยปกติจะทำการตัดเพื่อเป็นการลดภาระการเลี้ยงดูของต้นให้น้อยลง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกดอก และติดผลของต้นชมพู่อีกด้วยส่วนระยะในการตัดแต่งกิ่ง ควรทำในระยะหลังจากการเก็บเกี่ยวผลเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน เพียงปีละครั้ง พร้อมกับการใส่ปุ๋ยเพื่อเป็นการบำรุงต้นไปในตัว และวิธีการตัดแต่งกิ่งอีกวีธี คือ การตัดยอดกิ่งหรือการตัดกิ่งกระโดงที่เติบโตสูงเกินไปออก กิ่งในส่วนนี้จะมีประโยชน์ต่อต้นมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระดับความสูง ถ้าสูงมากเกินไป และไม่สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวก็ให้ตัดออกทันทีให้วัดความสูงจากพื้นดินประมาณ 8-10 เมตร ส่วนกิ่งไหนที่สูงกว่านี้ให้ตัดทิ้งไป
การห่อผลชมพู่
เนื่องจากชมพู่มีลำต้นค่อนข้างใหญ่ บางต้นสูงถึง 25 เมตร จึงจำเป็นต้องทานั่งร้านไม้ไผ่ เพื่อสะดวกในการห่อผลชมพู่ และเก็บผลชมพู่ แต่ปัจจุบัน นิยมตัดแต่งบังคับทรงพุ่มให้เหลือไม่เกินนั่งร้าน 2 ชั้น เพื่อความสะดวกในการห่อผล และบำรุงรักษา
โดยปกติการห่อชมพู่จะเริ่มห่อผลเมื่อกลีบเลี้ยงอยู่บริเวณปลายผล หุบเข้าหากันเป็นผลจึงห่อได้ หรือขนาดผลประมาณเหรียญบาท และถ้าหากนับอายุจากที่ดอกบานจนถึงการห่อผลจะใช้เวลาประมาณ 70 วัน หากห่อผลล่าช้ากว่าระยะดังกล่าวนี้ จะทำให้ผลชมพู่ไม่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และข้อควรระวังอย่างยิ่งในการห่อผล คือ ตำแหน่งของผลที่จะทำการห่อที่อยู่บริเวณปลายกิ่ง เวลาห่อจะต้องอาศัยกิ่งอื่นๆช่วย หลังจากนั้น จะต้องผูกยึดให้ติดกับกิ่งใกล้เคียงกันเพื่อกิ่งที่ได้จะไม่อ่อน และหัก สำหรับผลที่เกิดอยู่ตามบริเวณกิ่งจะไม่ค่อยมีปัญหาแต่จะทำการห่อได้ยากมาก
อุปกรณ์ในการห่อผล
– กระเช้าสำหรับใส่ถุง และวัสดุอุปกรณ์ในการห่อ
– ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงปูนซีเมนต์ ขนาด 8×12 นิ้ว
– เชือกฟาง หรือ ตอกสำหรับมัดปากถุง หรือที่เย็บกระดาษ
วิธีการห่อผลชมพู่
– ปลิดช่อผลหรือผลที่ไม่ต้องการทิ้ง โดยเฉพาะช่อผลที่มีผลอัดกันแน่นหรือช่อผลที่ออกกระจุกชิดกันมาก เพราะหากปล่อยให้เติบโตจะทำให้ผลในช่อมีขนาดเล็ก ทั้งนี้ ให้ปลิดผลที่ไม่ต้องการทิ้ง โดยให้เหลือผลไว้ 2-3 ผล/ช่อ จากนั้น นำถุงกระดาษสวมห่อ พร้อมดัดด้วยที่เย็บกระดาษหรือยางรัด และควรระวังไม่ให้ถุงอยู่ติดกับผลชมพู่ เพราะจะทำให้ผิวด้านหน้าเป็นรอยด่าง
– ปริมาณการห่อต่อกิ่งขึ้นอยู่กับขนาดของกิ่ง และความชำนาญของผู้ห่อ ถ้าห่อมากเกินไปอาจจะได้น้อย เนื่องจากผลไม่โตเท่าที่ควรหรืออาจจะร่วงหล่นมาก ถ้าห่อน้อย ผลที่ได้จะมีขนาดใหญ่มีความสมบูรณ์และรสชาติจะดี สีผลสวย
การเก็บเกี่ยวชมพู่
การเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากที่ได้ห่อผลไปแล้วประมาณ 20-25 วัน แต่ต้นที่ออกในฤดูหนาวก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ หลังจากที่ห่อไปแล้วประมาณ 25 วัน ถ้าหากเป็นฤดูร้อนก็ให้เก็บเกี่ยวหลังจากที่ห่อผลไปแล้วประมาณ 20 วัน ส่วนฤดูฝนจะใช้เวลาประมาณ 17-20 วัน ถ้าหากจะนับอายุทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การออกดอกจนถึงการเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน
วิธีการเก็บเกี่ยว ให้เริ่มทำการเก็บเกี่ยวภายหลังจากดอกบานแล้วประมาณ 30-35 วัน หรือ 25-30 วัน หลังจากที่ทำการห่อผล ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า โดยสังเกตลักษณะของผิว ปกติแล้วสีผิวจะเปลี่ยนไปเมื่อขนาดผลใหญ่ขึ้น ควรใช้กรรไกรตัดบริเวณขั้ว
โรคพืชของชมพู่
โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. จะเข้าทำลายที่ผลของชมพู่ โดยจะเริ่มเป็นแผลฉ่ำน้ำ และมีสีน้ำตาลที่ก้นผล แล้วค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น และถ้าสภาวะความชื้นของอากาศเหมาะสม จะมีเส้นใยของรามีลักษณะเป็นผงสีดำอยู่ตามบริเวณรอยแผล
แมลงศัตรูของชมพู่
1. แมลงค่อมทอง
แมลงค่อมทอง เป็นด้วงงวงชนิดงวงสั้น ลำตัวสีเขียวเหลืองทอง รูปไข่ ขนาดลำตัวกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 1.30 – 1.50 เซนติเมตร มักพบอยู่เป็นคู่ๆ ตัวเต็มวัยชอบกัดกินใบอ่อนยอดอ่อน ทำให้เว้าแหว่ง
2. ด้วงม้วนใบ
ด้วงม้วนใบ เป็นด้วงงวงขนาดเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาล คอยาว งวงยาวเกือบเท่าลำตัว บนปีกมีจุดสีเหลือง ตัวเมียชอบกัดกินใบ และวางไข่ในใบที่ม้วน 2 – 3 ฟอง ตัวอ่อนฟักออกจากไข่จะเป็นตัวหนอนที่เข้ากัดกินใบ ก่อนจะม้วนใบเข้าสู่ระยะดักแด้
3. เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายเข็ม ตัวเต็มวัยมีปีก มักจะเข้าทำลายยอดอ่อน ใบอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบแห้งตาย หรือหงิก บิดเบี้ยว แคระแกร็น
4. แมลงวันผลไม้
เป็นแมลงชนิดหนึ่ง ลำตัวมีสีดำปนเหลือง ตัวเมียจะวางไข่ไว้ในผล และตัวหนอนเข้ากัดกินเนื้อในผล ทำให้ผลเน่า และร่วงหล่นในที่สุด จะทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจานวนมากแล้วยังทำให้คุณภาพของผลชมพู่ลดลงไปด้วย
5. บุ้งเหลือง เป็นตัวหนอนที่ชอบกัดกินใบชมพู่ทั้งใบอ่อน และใบแก่
6. หนอนแดง เป็นตัวหนอนที่ชอบเจาะกินผลชมพู่จนทำให้ผลร่วง
ผลชมพู่สดให้เส้นใยอาหารทั้งชนิดที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ซึ่งดีต่อระบบขับถ่ายช่วยลดระดับ คอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงชองการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ วิตามินซีช่วยปกป้องร่างกายด้วยการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ร่างกายต้องการวิตามินซีเพื่อสร้างคอลลาเจน ที่จำเป็นต่อการสร้างผิวหนังและรักษาบาดแผล ชมพู่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียม ชมพู่ยังเป็นผลไม้หนึ่งในไม่กี่ชนิดที่มี ไลโคพีน รงควัตถุสีแดงที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำควรระวังการกิน เพราะเนื้อชมพู่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก
สรรพคุณของชมพู่
1. ผลของชมพู่ มีสรรพคุณใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ และ ทำให้ชุ่มชื่น แก้ลมปลายไข้
2. เนื้อในที่เป็นใยของชมพู่ มีสรรพคุณใช้เป็นยาลดไข้ แก้ตาเจ็บ บำรุงสายตา
3. เมล็ดชมพู่ ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และแก้เบาหวาน
4. เปลือก, ต้น - แก้เบาหวานและแก้ท้องเสีย
เอกสารอ้างอิง
1) ไพศาล ตันไชย. 2548. ลักษณะทางสรีระบางประการของต้นชมพู่ระยะอ่อนวัยในสภาพน้ำท่วมขัง.
No comments:
Post a Comment