การปลูกถั่วฝักยาว
การปลูกถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาว (Snake bean) เป็นพืชล้มลุกปีเดียวที่นิยมปลูก และนิยมรับประทานมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีรสหวานกรอบ ใช้รับประทานเป็นผักสด ผักจิ้มน้ำพริก นอกจากนั้น ยังส่งจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง และยุโรป สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบจะทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกคือดินร่วนปนทราย ที่มีค่า pH อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6 หน่วย ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีระบบรากละเอียดอ่อนการเตรียมดินก่อนปลูกอย่างเหมาะสม จะช่วยให้การเติบโตของลำต้นสมบูรณ์และสม่ำเสมอ
“ถั่วฝักยาว” เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากใช้น้ำเพียง 400 ลบ.ม./ไร่ ทั้งยังเป็นพืชอายุสั้น ปลูกเพียง 2 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน เหมาะสมมากกับการปลูกเชิงเศรษฐกิจที่ให้กำไรได้ทุกวัน หรือจะปลูกเล็ก ๆ สำหรับบริโภคภายในครอบครัวก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะถั่วฝักยาว สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทุกประเภท รวมถึงมีวิตามิน โปรตีน คาร์โบไฮร์เดรต เหมาะสมกับคนทุกวัย
การเตรียมดิน
1. ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูก คือดินร่วนทราย หรือดินร่วนปนทราย และความเป็นกรดและด่างของดิน (pH) มีค่าระหว่าง 5.5-
2. การเตรียมดิน ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีระบบรากละเอียดอ่อน การเตรียมดินที่ดีจะช่วยให้การเจริญเติบโตสมบูรณ์และสม่ำเสมอ ขั้นตอนแรกให้ไถพรวนความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินทิ้งไว้ 5-7วัน เพื่อทำลายไข่แมลง และศัตรูพืชบางชนิด เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด จากนั้นจึงไถคราด ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น การยกร่องสำหรับถั่วฝักยาวนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร โดยให้ความยาวเหมาะสมกับสภาพแปลง และเตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเข้าไปปฏิบัติงาน กว้างประมาณ 0.5-0.8 เมตร ในสภาพพื้นที่ ที่ไม่เคยมีการวิเคราะห์ดินมาก่อน ควรเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำไปวิเคราะห์เคมี เพื่อให้ทราบถึงความจำเป็นและได้ข้อมูลในการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมต่อไป
การปลูกถั่วฝักยาว
1.การเตรียมเมล็ดพันธุ์
ปกติในการปลูกถั่วฝักยาวในเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัม นำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความงอก คัดเมล็ดที่มีตำหนิออก และควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลายด้วย
2.การเตรียมหลุมปลูก
ให้ใช้จอบขุดหลุมให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 0.8 เมตร ระยะระหว่างหลุม 0.5 เมตร โดยให้หลุมลึกประมาณ 4-6 นิ้ว ใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่เหมาะสมกับถั่วฝักยาว เช่น 15-15-15, 13-13-21,12-24-12, 5-10-5 หรือ 6-12-12 ใส่หลุมละ 1/2 ช้อนแกง (10-15 กรัม) คลุกเคล้าให้เข้ากัน
3.การปลูกโดยหยอดเมล็ด
หลุมละ 4 เมล็ด แล้วกลบดินให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วจึงรดน้ำทันที สำหรับการให้น้ำระยะ 1-7 วัน ควรให้น้ำทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้พิจารณาสภาพภูมิอากาศ และสภาพดินด้วย
4.การถอดแยก
หลังจากหยอดเมล็ดแล้วประมาณ 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงประมาณ 4 ใบ ให้ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม ขณะที่ถอนแยกให้พรวนดินและกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้วัชพืชมาแย่งน้ำ และอาหารจากถั่วฝักยาว
การดูแล
ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การดูแลรักษาที่ดีจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอย่างมาก ขั้นตอนต่าง ๆ ของการดูแลรักษานั้นมีดังนี้
1.การให้น้ำ
ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป ระยะเจริญเติบโตหลังจากถอนแยกแล้วควรให้น้ำทุก 3-5 วันต่อครั้ง ให้ตรวจสอบความชื้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ระบบการให้น้ำอาจใช้วิธีการใส่น้ำเข้าตามร่อง หรืออาจจะใช้วิธีการตักรดโดยตรง ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่มี สภาพพื้นที่ปลูกและความชำนาญของผู้ปลูก
2.การปักค้าง
ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องอาศัยค้างเพื่อเกาะพยุงลำต้นให้เจริญเติบโต ไม้ที่ใช้สำหรับทำไม้ค้างนั้นใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยความยาวของไม้มีความยาวประมาณ 2.5-3 เมตร หรืออาจจะสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดขึงด้านบน และใช้เชือกห้อยลงมายังลำต้นถั่วฝักยาวให้เลื้อยขึ้น ระยะเวลาการใส่ค้างถั่วฝักยาวนั้นจะเริ่มใส่หลังจากงอกแล้ว 15-20 วัน โดยจับต้นถั่วฝักยาวให้พันเลื้อยขึ้นค้างในลักษณะ ทวนเข็มนาฬิกา วิธีการปักค้างทำได้หลายวิธี เช่น
2.1 ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้างโดยให้ตั้งฉากกับผิวดิน
2.2 ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง โดยให้เอียงเข้าหาร่องเป็นคู่และมัดปลายเข้าด้วยกันใช้ไม้ไผ่พาดยึดค้างด้านบนให้แข็งแรง
2.3 ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง โดยให้เอียงเข้าหากันกลางร่องเป็นคู่ แล้วมัดปลายเช่นเดียวกับ ข้อ 2.2 แต่ใช้ไม้ค้ำยันแต่ละคู่เป็นแบบกระโจม
2.4 การใช้เชือกแทนค้าง พบว่าในแหล่งที่หาค้างยาก ผู้ปลูกพยายามใช้เชือกแทนค้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นการปลูกถั่วฝักยาวควรมีการทดสอบการใช้เชือกแทนค้างเพื่อหาข้อมูลสำหรับการลดต้นทุนการผลิตต่อไป
3.การใส่ปุ๋ย
ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องการธาตุฟอสฟอรัสสูงในการสร้างดอก ในทางวิชาการแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอัตราส่วนของไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P2O5) และโปรแตสเซียม (K2O) คือ 1:1.5-2:1 ปุ๋ยสูตรดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในท้องถิ่น อาจใช้สูตร 15-15-15 ซึ่งใช้ในสภาพดินที่เป็นดินเหนียว หรือสูตร 13-13-21 ในสภาพดินที่เป็นดินทราย สำหรับการใส่นั้นควรแบ่งใส่ดังนี้คือ
ก. ใส่ขณะที่เตรียมหลุมปลูกตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
ข. ใส่เมื่อต้นถั่วอายุประมาณ 15 วัน โดยการพรวนดินแล้วโรยปุ๋ยรอบ ๆ ต้นให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ในอัตรา 1 ช้อนแกง (25-30 กรัม) ต่อหลุม แล้วใช้ดินกลบ เพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยสูญเสียไป การใส่ปุ๋ยร่วมกับปุ๋ยคอกในระยะนี้
จะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ค. ใส่เมื่อเก็บผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 55 วัน โดยใส่ปุ๋ยประมาณ 2 ช้อนแกงต่อต้น และหลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยทุก ๆ 7-10 วัน การใส่ปุ๋ยระหว่างช่วงเก็บเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอ และปริมาณพอจะทำให้เก็บถั่วฝักยาวได้นาน โดยผลผลิตมีคุณภาพดี และปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
4.การกำจัดวัชพืช
หลังจากถั่วฝักยาวงอกแล้ว ต้องคอยดูแลวัชพืชในแปลงปลูก โดยทั่วไปแล้วจะกำจัดวัชพืช หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน หรือก่อนที่จะปักค้างหลังจากนั้นจึงคอยสังเกตจำนวนวัชพืชในแปลง หากพบวัชพืชควรกำจัด และเมื่อต้นถั่วเจริญเติบโตคลุมแปลงแล้วจะทำให้การแข่งขันของวัชพืชลดลง ในการกำจัดวัชพืชในระยะที่ถั่วฝักยาวเริ่มออกดอกนั้น ต้องเพิ่มควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการกำจัดวัชพืชอาจกระทบกระเทือนรากอันเป็นสาเหตุให้ดอกร่วงได้
การเก็บเกี่ยว
ถั่วฝักยาวจะเริ่มเก็บผลอ่อนได้ ประมาณ 60-80 วัน หลังปลูก หรือหลังจากออกดอกประมาณ 15-20 วัน โดยทะยอยเก็บฝักอ่อนเป็นระยะ ทุกๆ 2-4 วัน สามารถเก็บฝักได้นานประมาณ 1-2 เดือน หรือเก็บได้ 20-40 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการดูแล
โรค และแมลง
1. โรคที่เกิดจากเชื้อรา Cercospopra sp.
พบอาการบริเวณใต้ใบ ของใบส่วนล่างก่อน ใบมีจุดสีสนิมสีน้ำตาลแดง แล้วลุกลามขึ้นส่วนบนของลำต้น ทำให้ใบแห้ง และลำต้นเหี่ยวตาย มักเกิดในระยะออกดอก
• การป้องกันกำจัด
เมื่อพบระบาดให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา เช่น ไดเทนเอ็ม 45 หรือ เบนเลท ทุกๆ 5-7 วัน
2. โรคที่เกิดจากเชื้อรา Uromyces fabae
พบอาการของใบที่มีมีผงแป้งจับด้านบน หากเป็นมากผงแป้งจะเคลือบใบทำให้ใบสังเคราะห์แสงไม่ได้ ใบเหี่ยว และต้นเหี่ยวตายตามมา
• การป้องกันกำจัด
– ใช้กำมะถันละลายน้ำ 30-40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1 ครั้ง/สัปดาห์ ไม่ควรฉีดพ่นขณะแดดร้อน
– ฉีดพ่นด้วยแพลนท์แวกช์ (Plantvax) ละลายน้ำ 10-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 5-7 วัน
3. โรคที่เกิดจากเชื้อรา Oidium sp.
พบอาการใบมีจุดด่างเหลืองหรือเหลืองอ่อนแกมขาว สลับกับสีเขียวของใบ หากเป็นมากใบจะเป็นคลื่น ใบม้วนงอ ใบเหี่ยวแห้งทำให้ลำต้นเหี่ยวตายตามมา
• การป้องกันกำจัด
– ใช้กำมะถันผงละลายน้ำฉีดพ่น
– ใช้คาราเทนหรือซาพรอน ฉีดพ่นทุกๆ 7-10 วัน
4. หนอนเจาะต้นถั่ว และหนอนเจาะฝัก
เป็นหนอนของแมลงวันขนาดเล็ก สีดำ ที่ไข่ไว้ตามใบ มักพบระบาดในทุกระยะของต้นถั่ว ตั้งแต่ระยะใบงอกจนถึงออกฝัก ชอบกัดกินใบอ่อนทำให้ใบแหว่ง จนลำต้นตาย และชอบกินฝักอ่อนทำให้ผลผลิตเสียหาย ฝักลีบ เป็นรู
• การป้องกันกำจัด
สำหรับหนอนเจาะต้นถั่ว ให้ใช้ฟูราดานรองก้นหลุม 2 กรัม/หลุม ไม่ควรใช้ในระยะที่ต้นถั่วเติบโตแล้ว เพราะอาจทำให้มีพิษตกค้างบนต้นถั่ว หากพบระบาดหลังถั่วเติบโตแล้วให้ใช้ ไดเมทโธเอท ฉีดพ่น ทุกๆ 5-7 วัน
5. เพลี้ยอ่อน
เป็นเพลี้ยที่มักระบาดในทุกระยะ ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงของยอดอ่อน ใบ และฝักถั่ว ทำให้ใบเหี่ยวตาย ลำต้นแคระแกร็น หากดูดกินฝักอ่อนจะทำให้ฝักลีบ บิดงอ
• การป้องกันกำจัด
เมื่อพบระบาดให้ใช้ทามารอน หรือ โซนาต้ามอลต้า ผสมน้ำฉีดพ่น
No comments:
Post a Comment