การปลูกผักบุ้งจีน
การปลูกผักบุ้งจีน (Water Convolvulus)
ผักบุ้งจีน เป็นพืชผักที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยมาช้านาน เนื่องจากมีลำต้น อวบ ตรงใหญ่ มีสีสันน่าทาน ทั้งยังเป็นพืชที่เพาะปลูกง่าย ขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและผู้ปลูกมาที่สุดก็คือ ผักบุ้งจีนใบไผ่ ที่มีลักษณะใบเรียวเล็กเหมือนใบไผ่ ไม่มีแขนง ข้อปล้องยาว ลำต้นตรง นอกจากผักบุ้งพันธุ์นี้จะมีลักษณะน่ารับประทานแล้ว ยังเป็นพันธุ์ที่ปลูกขายได้ราคาดีอีกด้วย ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกยืนยันว่าสามารถขายได้ 15-20 บาท / กก. เลยทีเดียว
วันนี้ราคาผักบุ้งขั้นต่ำ กิโลกรัมละ 15 บาท ต้นแขนงที่เกิดที่ซอกใบเลี้ยงจะเจริญเติมโตเท่าเทียมกับต้นที่เกิดจากเมล็ด ดังนั้นเราจะได้ต้นผักบุ้งเมล็ดละ 3 ต้น
เมล็ดผักบุ้ง 1 กิโลกรัม มีจำนวน 21,750 เมล็ด
เปอร์เซ็นความงอก ประมาณ 80%
ฉะนั้นเมล็ด 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดที่งอกประมาณ 17,400 เมล็ด
จะได้ผักบุ้ง จำนวน 52,200 ต้น
ต้นผักบุ้งอายุ 25 วัน จำนวน 50 ต้น จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม
ฉะนั้นเมล็ดผักบุ้ง 1 กิโลกรัม จะได้นำหนักต้นผักบุ้ง 1,044 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 15 บาท เป็นเงิน จำนวน 15,660 บาท
ในที่นี้ เราจะยกตัวอย่างการปลูกโดยใช้พื้นที่ 50 ตารางวา ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ 4 – 5 กิโลกรัม
ดังนั้น เมล็ดผักบุ้ง 5 กิโลกรัม จะสามารถสร้างผลผลิตต้นผักบุ้งได้น้ำหนัก 5,220 กิโลกรัม ขายได้เป็นเงิน 78,000 บาท
ยังไม่หักค่าต้นทุนการผลิต (อย่าเพิ่งเชื่อให้ลองทำก่อน)
การปลูกผักบุ้งจีน
ผักบุ้งจีนใบไผ่นั้นสามารถปลูกได้ทั้งบนบกและในน้ำและสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด ดินที่เหมาะสมในการปลูกผักบุ้งเพื่อการบริโภคสด จะเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ผักบุ้งชอบชื้นแฉะ ต้องการความชื้นในดินสูงมากอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงที่สูงกว่า 25 องศาเซลเชียส ต้องการแสงแดดเต็มที ซึ่งประเทศไทยสามารถปลูกได้ดีตลอดไป โดยมีวิธีปลูกง่ายๆ คือเตรียมแปลงโดยการไถดะและ ไถแปรให้เรียบร้อย และทำการตากแดดทิ้งไว้ เพื่อกำจัดโรคแมลงพร้อมใส่ปุ๋ยคอก ปลูกแบบได้ทั้งแบบหว่านเมล็ด และแบบแยกหน่อ
การเตรียมแปลง
1. ไถและเตรียมดินที่จะปลูกให้สมบูรณ์ วัดความเป็นกรด-ด่างในดินให้มีค่า PH อยู่ที่5 -7 ถ้าไม่ได้ให้ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักใส่ผสมลงไปอัตรา 1 – 2 ตันต่อไร่ จากนั้นตากดินไว้ 7 วัน
2. ปรับไถดินด้วยรถไถคราดเศษวัชพืชออกให้ดินร่วนซุย ยกร่องเป็นแปลงปลูก ขนาด 50 ตารางวา (กว้าง 4 x 48 เมตร) ใช้เมล็ดพันธุ์ 4 – 5 กิโลกรัม
การเตรียมเมล็ด
1. นำเมล็ดแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน (ถ้าต้องการให้งอกเร็วให้ต้มน้ำให้เดือดนำไปผสมกับน้ำให้อุณหภูมิอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส นำเมล็ดแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน)
2. บ่มเมล็ดโดยห่อเมล็ดด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ให้เปลือกของเมล็ดหลุดออก จากนั้นจึงนำไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้ เสร็จแล้วนำฟางหรือใบอ้อยหรือแกลบผสมปุ๋ยคอกมาคลุมปิดด้านบนเพื่อช่วยเก็บความชื้น
การดูแลรักษา
รดน้ำให้ชุ่ม (เช้า-เย็น) โดยรดทุกวัน ประมาณ 3 วัน ผักบุ้งจะเริ่มงอก ขึ้นมาเป็นต้นให้เห็น หลังหว่านได้ 5-7 วัน
โรค-แมลงศัตรูผักบุ้งที่พบว่ามีการระบาดในแปลงปลูกและสร้างความเสียหายให้แก่ผักบุ้ง ได้แก่ อาการใบหงิกงอ สาเหตุจากเพลี้ยเข้าทำลาย หากพบ ให้กำจัดด้วยน้ำหมักใบยาสูบ โดยจะหาซื้อใบยาสูบหยาบจากโรงงาน ราคาประมาณ กิโลกรัมละ 8-10 บาท อัตรา 10 กก. ใส่ในถังน้ำมัน 200 ลิตร เติมน้ำพอท่วม ปิดฝาถังหมักทิ้งไว้ 1 คืน นำไปฉีดพ่นให้ทั่วทุก 5-7 วัน จะช่วยกำจัดเพลี้ย สาเหตุของอาการใบหงิกได้
นอกจากนี้ยังพบว่ามี โรคราสนิมขาว เข้าทำลายผักบุ้ง ซึ่งพืชจะมีอาการเป้นจุดสีเหลืองซีดด้านบนใบ ด้านใต้-ใบตรงกันข้ามจะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ขนาด 1-2 มิลลิเมตร อาจพบลักษณะปุ่มปม หรือบวมพองโตขึ้นในส่วนของก้านใบและลำต้น บางครั้งจะเป็นจุดหลืองเล็ก ๆ และขยายใหญ่จนขาวทั้งใบ ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้จะพบมากในสภาพอากาศร้อนชื้น
วิธีการจัดการคือ หมั่นรดน้ำให้มากขึ้นและใช้น้ำปูนใสผสมฉีดพ่นให้ทั่วแปลงปลูก โดยจะผสมน้ำปูนใสได้จาก ปูน (ที่ใช้สำหรับเคี้ยวหมาก) 1 ช้อนแกง + น้ำสะอาด 20 ลิตร **นำปูนมาละลายในน้ำพอประมาณ และทิ้งไว้จนตกตะกอน กลายเป็นน้ำปูนใส กรองเอาเฉพาะน้ำปูนใสนำไปฉีดพ่นให้ทั่วทุก 5-7 วัน จะช่วยป้องกันและกำจัดเชื้อราสาเหตุของโรคพืชได้ และต้องดูแลระบบการให้น้ำในแปลงปลูก อย่าให้ชื้นแฉะจนเกินไป อายุ 7-14 วัน ช่วงนี้ควรทำให้แปลงปลูกผักบุ้งปลอดวัชพืช โดยใช้วิธีกำจัดด้วยการถอนออก แล้วใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 โดยหว่านบางๆ ลงไปในแปลงปลูกแล้วรดน้ำตามทันที ควรทำช่วงเช้ามืด
การเก็บเกี่ยว
สามารถเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ตั้งแต่อายุ 18-25 วัน หรือ ผักบุ้งมีขนาดลำต้น 3 หุน ยาว 30 ซม.ในฤดูร้อน และ เก็ยบเกี่ยวที่อายุ 24-25 วัน ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พืชผักเติบโตช้า โดยใช้วิะธีการถอนผักบุ้งให้ได้กำละ 1 กก. นำมาล้างให้สะอาด และคัดแยกใบเสียทิ้ง บรรจุลงในถุง 5 กก. แล้วนำส่งตลาด ซึ่งจะมีพ่อค้าในพื้นที่มารับไปจำหน่ายต่อไป
การปฏิบัติดูแลรักษาผักบุ้งจีนเพื่อการบริโภคสด
1 การให้น้ำ ผักบุ้งจีนเป็นพืชที่ชอบดินปลูกที่ชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะจนมีน้ำขัง ฉะนั้นควรรดน้ำผักบุ้งจีนอยู่เสมอทุกวัน ๆ ละ 1-2 ครั้ง ยกเว้นช่วงที่ฝนตกไม่ต้องรดน้ำ อย่าให้แปลงปลูกผักบุ้งจีนขาดน้ำได้ จะทำให้ผักบุ้งจีนชะงักการเจริญเติบโต คุณภาพไม่ดี ต้นแข็งกระด้าง เหนียว ไม่น่ารับประทาน และเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่าปกติ
2 การใส่ปุ๋ย ผักบุ้งจีนเป็นพืชผักที่บริโภคใบและต้นมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ถ้าดินปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ หรือมีการใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลสุกร มูลเป็ด ไก่ เป็นต้น ซึ่งปุ๋ยคอกดังกล่าวเป็นปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีก็ได้ แต่ถ้าดินปลูกไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ นอกจากต้องให้ปุ๋ยคอกแล้ว ควรมีการใส่ปุ๋ยทางใบที่มีไนโตรเจนสูง โดยหว่านปุ๋ยกระจายทั่วทั้งแปลงก่อนปลูกและหลังปลูกผักบุ้งจีนได้ประมาณ 7-10 วัน ซึ่งการให้ปุ๋ยครั้งที่ 2 นั้น หลังจากหว่านผักบุ้งจีนลงแปลงแล้ว จะต้องมีการรดน้ำแปลงปลูกผักบุ้งจีนทันที อย่าให้ปุ๋ยเกาะอยู่ที่ชอกใบ จะทำให้ผักบุ้งจีนใบไหม้ ในการใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 2 นั้น จะใช้วิธีการละลายน้ำรด 3-5 วันครั้งก็ได้ โดยใช้อัตราส่วน ปุ๋ยยูเรีย 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จะเป็นการช่วยให้ผักบุ้งจีนเจริญเติบโต และเก็บเกี่ยวได้รวดเร็วขึ้น
3 การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ถ้ามีการเตรียมดินดีมีการใส่ปุ๋ยคอกก่อนปลูกและมีการหว่านผักบุ้งขึ้นสม่ำเสมอกันดี ไม่จำเป็นต้องพรวนดิน เว้นแต่ในแหล่งปลูกผักบุ้งจีนดังกล่าวมีวัชพืชขึ้นมาก ควรมีการถอนวัชพืชออกจากแปลงปลูกอยู่เสมอ 7-10 วันต่อครั้ง ในแหล่งที่ปลูกผักบุ้งจีนเพื่อการบริโภคสดเป็นการค้าปริมาณมาก ควรมีการพ่นสารคลุมวัชพืชก่อนปลูก 2-3 วัน ต่อจากนั้นจึงค่อยหว่านผักบุ้งจีนปลูก จะประหยัดแรงงานในการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกผักบุ้งจีนได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
4 การเก็บเกี่ยว หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนลงแปลงปลูกได้ 20-25 วัน ผักบุ้งจีนจะเจริญเติบโต มีความสูงประมาณ 30-35 เซนติเมตร ให้ถอนต้นผักบุ้งจีนออกจากแปลงปลูกทั้งต้นและราก ควรรดน้ำก่อนถอนต้นผักบุ้งจีนขึ้นมาจะถอนผักบุ้งจีนได้สะดวก รากไม่ขาดมาก หลังจากนั้นล้างรากให้สะอาด เด็ดใบและแขนงที่โคนต้นออก นำมาผึ่งไว้ ไม่ควรไว้กลางแดดผักบุ้งจีนจะเหี่ยวเฉาได้ง่าย จัดเรียงต้นผักบุ้งจีนเป็นมัด เตรียมบรรจุภาชนะเพื่อจัดส่งตลาดต่อไป
ขอบคุณที่มาข้อมูล :
ไทยอินโฟร์
พืชเกษตร
ไทยรัฐ
คู่มือการปลูกผักบุ้งจีน
การปลูกผักบุ้งจีน
คลิปวิดีโอ การปลูกผักบุ้งจีน
No comments:
Post a Comment