Breaking

Tuesday, October 24, 2017

การปลูกกระเจี๊ยบเขียว

การปลูกกระเจี๊ยบเขียว

การปลูกกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว พืชทำเงินอีกชนิดที่น่าสนใจ



กระเจี๊ยบเขียว พืชผักเศรษฐกิจอีกชนิดที่น่าสนใจ ขายได้ทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ น่าจะเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริม หรือทำเป็นอาชีพได้ บางกอกทูเดย์ เราจึงได้เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปลูกกระเจี๊ยบเขียว ฝากไว้เป็นแนวทางในการศึกษาและทดลองทำ สำหรับผู้สนใจปลูกผักไว้กินไว้ขาย ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นอีกอาชีพทำเงินสร้างงานสร้างรายได้ให้กับตัวเองและประเทศชาติ

กระเจี๊ยบเขียว ปลูกขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เรื่องราวของพืชที่หลายๆ ท่านอาจจะคิดไม่ถึงว่ามันจะสามารถส่งออกได้อย่าง กระเจี๊ยบเขียว เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะโดยทั่วไปเรามักจะคิดว่ามันเป็นผักพื้นบ้านด้อยค่าด้อยราคา คนไทยส่วนใหญ่มักจะนำมาต้มเพื่อรับประทานเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริกต่างๆ หรือไม่ก็นำไปแกงส้ม นำไปปิ้งย่างเพื่อกินร่วมกับพวกเนื้อย่างเกาหลี แต่อันที่จริงแล้วกระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่สามารถขายเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศได้เช่นกัน

ประเทศที่ทำการสั่งซื้อ กระเจี๊ยบเขียว รายใหญ่ของประเทศไทยก็คือประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นจะสามารถปลูกกระเจี๊ยบกินเองได้แค่ในช่วงที่อากาศยังไม่เย็นจัด แต่เมื่อถึงหน้าหนาวก็จำเป็นต้องนำเข้าโดยมีการรับซื้อจากประเทศไทยโดยผ่านทางพ่อค้าคนกลาง ซึ่งกระเจี๊ยบที่เกษตรกรปลูกเพื่อส่งออกจะต้องมีลักษณะฝักที่สวยและตรง ส่วนฝักที่คดงอจะกลายเป็นฝักที่ตกเกรดซึ่งก็สามารถนำมาขายภายในประเทศได้

กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่มีคุณค่ากระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารและมีคุณค่าทางสมุนไพรสูงมาก จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย

วิธีการปลูกกระเจี๊ยบเขียว
กระเจี๊ยบเขียวที่ปลูกเพื่อบริโภคในประเทศจะปลูกได้ตลอดทั้งปี ส่วนการปลูกเพื่อส่งไปญี่ปุ่นจะปลูกตั้งแต่เดือนสิงหาคม และเก็บฝักในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน เนื่องจาก ช่วงนี้ประเทศญี่ปุ่นจะเข้าฤดูหนาวทำให้ไม่สามารถปลูกได้ จึงใช้การนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนการปลูกทั่วไปจะเป็นเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ช่วงที่ 2 เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม

ซึ่งในการปลูกสามารถทำได้ 2 แบบ คือแบบร่องสวน และแบบไร่ โดยจะใช้ระยะห่างระหว่างต้นและแถวอยู่ที่ 50×50 ซม. และให้ปลูกจำนวน 1-2 ต้น/หลุม ซึ่งแปลงที่ใช้ปลูกกระเจี๊ยบเขียวจะต้องมีการระบายน้ำที่ดี ยิ่งถ้าเป็นดินร่วนจะทำให้การเจริญเติบโตของกระเจี๊ยบเขียวเป็นไปด้วยดีเป็นอย่างมาก และควรมีการใส่อินทรียวัตถุ เช่น มูลเป็ด มูลไก่ ปุ๋ยคอก และใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพการเป็นกรดด่างที่เหมาะสมให้กับดินที่จะปลูก แต่ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันโรคด้วย หลังจากนั้นก็ทำการปลูกได้เลย



พันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่นิยมปลูก
1. พันธุ์ Hit 9701
พันธุ์ Hit 9701 เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากอินเดีย นิยมปลูกมากในภาคกลาง เป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคใบด่างไวรัสได้ดี ฝักมี 5 เหลี่ยม สีเขียวเข้มทั่วฝัก เนื้อฝักมีเส้นใยน้อย ลำต้นไม่มีหนาม ติดฝักเร็ว ให้ผลผลิตสูง และเก็บฝักไว้ได้นาน เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ

2. พันธุ์ลูกผสมรุ่นที่ 1
พันธุ์นี้ ฝักอ่อนมีเส้นใยน้อย ฝักมีสีเขียวเข้ม ฝักมี 5 เหลี่ยม สามารถต้านทานโรคได้ดี และให้ผลผลิตสูง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมมากในตลาดญี่ปุ่น

3. พันธุ์ผสมจากต่างประเทศ
เป็นพันธุ์ที่มาจากต่างประเทศ ฝักมีลักษณะกลม ป้อม และสั้น เช่น พันธุ์ Clemson และพันธุ์ Spineless ส่วนฝักที่เรียวยาว ฝักมี 8 เหลี่ยม สีเขียวสด เช่น พันธุ์ Dwarf Green พันธุ์นี้ นิยมแปรรูปบรรจุกระป๋อง

4. พันธุ์ไทยที่ปรับปรุงโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ฝักจะมีสีเขียวสด รูปฝักห้าเหลี่ยม ต้านทานโรคได้ดี ติดฝักจำนวนมาก ฝักมีน้ำหนักดี ราคาเมล็ดพันธุ์ 50-80 บาท/กิโลกรัม

การเตรียมดิน ปลูกกระเจี๊ยบเขียว
เตรียมดินด้วยการไถกลบหน้าดิน และตากดินให้แห้ง 7-10 วัน จำนวน 2 ครั้ง ก่อนการไถครั้งที่ 2 สำหรับพื้นที่ค่อนข้างดินเป็นกรด เช่น ภาคกลาง ให้หว่านด้วยปูนขาว อัตรา 80 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยคอก 2 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมี 15-15-15 จำนวน 35 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากนั้น ทำร่องปลูกให้เป็นแถวลึกประมาณ 5 ซม. ระยะห่างของแถว 75 ซม.

ขั้นตอนการปลูกกระเจี๊ยบเขียว
การปลูกกระเจี๊ยบเขียว เกษตรกรจะใช้วิธีการหยอดเมล็ด ใช้เมล็ดหนัก 1 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนเมล็ดประมาณ 14,200-166,600 เมล็ด

นำเมล็ดมาแช่น้ำร่วมกับน้ำยาฆ่าเชื้อรา และป้องกันแมลง เช่น สารเบนโดมิล 10 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม นาน 30-40 นาที ก่อนนำลงหยอดในร่อง ระยะห่างระหว่างเมล็ด 50 ซม. ซึ่งจะได้ระยะของต้นที่ 50×75 ซม. จำนวน 8,480 ต้น

การให้น้ำ
การปลูกกระเจี๊ยบในฤดูฝนจะไม่ค่อยให้น้ำมากนัก แต่หากปลูกในฤดูแล้ง ในช่วง 1-2 อาทิตย์แรก ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้น ค่อยลดเหลือ 3-4 วัน/ครั้ง

การใส่ปุ๋ย
– สำหรับพันธุ์ที่มีอายุการปลูกสั้น 40-45 วัน หลังการปลูกได้ 20-30 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ไร่ละประมาณ 30 กิโลกรัม
– สำหรับพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวนาน ในช่วงแรกจะให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ก่อน แล้วก่อนระยะออกดอกค่อยให้สูตร 12-12-24 อีกครั้ง

การตัดต้น
เกษตรกรในบางพื้นที่จะใช้วิธีการตัดยอด เพื่อให้มีลำต้นสูง เพื่อให้มีลำต้นสูง 50-70 ซม. และที่สำคัญเพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งให้มากขึ้น

การเก็บฝัก
กระเจี๊ยบเขียวจะเริ่มติดดอกได้หลังปลูกที่อายุ 40-45 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ บางพันธุ์มีอายุเก็บเกี่ยวนานถึง 180 วัน และดอกจะบานหลังจากนั้นประมาณ 10 วัน การบาน และการผสมเกสรของดอกจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน หลังจากนั้น กลีบดอกจะเหี่ยว และร่วงหลุดไป และหลังจากนั้นประมาณอีก 5 วัน ฝักจะพัฒนาจนมีความยาวได้ 6-10 ซม. ซึ่งเป็นระยะฝักอ่อนที่มีคุณภาพ มีเส้นใยน้อย ฝักกรอบไม่เหนียว เหมาะสำหรับเก็บฝักมากที่สุด

หลังจากดอกร่วง ฝักกระเจี๊ยบเขียวจะโตเร็วมาก สามารถเพิ่มความยาวฝักได้วันละ 1-3 ซม. โดยเฉพาะวันที่มีแดดตลอดวัน ดังนั้น หากปลูกในแปลงขนาดใหญ่จะต้องเข้าเก็บทุกวัน และจะต้องเก็บฝักออกให้หมดในแต่ละต้น เพราะหากมีฝักเหลือบนต้น สารอาหารจะถูกส่งมาเลี้ยงฝักตลอด ทำให้ฝักที่ติดใหม่มีขนาดเล็ก และคุณภาพไม่สม่ำเสมอ

ในช่วงแรกของการติดฝักจะติดฝักบริเวณส่วนของลำต้นก่อน ดังนั้น ฝักที่เก็บในช่วงแรกจะเป็นฝักจากลำต้น ซึ่งจะต้องเก็บให้หมดภายในหนึ่ง-หนึ่งเดือนครึ่ง หลังจากนั้น จึงค่อยทยอยเก็บฝักจากกิ่ง

ช่วงเวลาเก็บฝักกระเจี๊ยบเขียวที่เหมาะสมจะเป็นช่วงเช้าตรู่จนถึงช่วงสาย โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดที่ขั้ว ยาวประมาณ 1 ซม. ด้วยการตัดตรง ไม่ควรตัดเป็นปากฉลาม เพราะอาจตัดพลาดไปโดนฝักอื่นได้ และห้ามใช้มือเด็ด เพราะจะทำให้ฝักช้ำได้ พร้อมให้ตัดใบตรงข้อทิ้งด้วย เพื่อให้แสงแดดส่องถึงฝักอ่อนที่เหลือให้มีสีเขียวเข้ม และหลังจากเก็บฝักให้นำฝักเข้าร่ม และส่งทันที โดยไม่พรมน้ำ เพราะอาจทำให้ฝักบวม ฝักช้ำ และเน่าเปื่อยง่าย

เกรดของฝัก
– ฝักเกรด A ยาวไม่เกิน 8 ซม.
– ฝักเกรด B ยาวไม่เกิน 10 ซม.
– ฝักเกรด C ยาวมากกว่า 10 ซม.

การเก็บรักษาฝัก
กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น เนื่องจาก เป็นฝักที่เก็บในระยะฝักอ่อน ฝักเหี่ยว และเน่าเปื่อยง่าย ทำให้ไม่น่ารับประทาน และคุณค่าทางอาหารลดลง
1. การเก็บในอุณหภูมิต่ำ
สำหรับกระเจี๊ยบเขียว ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 7-10 °C ความชื้นประมาณ 90-95% ซึ่งจะเก็บได้นาน 7-10 วัน หากเก็บที่อุณหภูมิสูงจะทำให้ฝักเหนียว ฝักมีเป็นสีเหลือง และเน่าง่าย และหากเก็บที่อุณหภูมิต่ำเกินไป ฝักจะเกิดอาการสะท้านหนาว ทำให้ฝักฉ่ำน้ำ ขอบฝักมีสีดำ และเกิดรอยบุ๋มบริเวณผิวฝัก โดยเฉพาะการเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส

2. การเก็บภายใต้สภาพควบคุม
การเก็บในลักษณะนี้ เป็นการเก็บภายใต้สภาวะที่มีการควบคุมส่วนประกอบของก๊าซในถุงเก็บ ซึ่งประกอบด้วย N 78.08% O2 20.95% และ CO2 0.03% ทำให้มีก๊าซออกซิเจนในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดเมทาบอลิซึมของฝักให้น้อยลง รวมถึงยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ด้วย

3. การเก็บภายใต้การดัดแปลง
การเก็บภายใต้การดัดแปลง เช่น การใช้ฟิล์มพลาสติกห่อ โดยการไล่อากาสออก จะช่วยลดเมทาบอลิซึมของฝักได้ ทำให้ฝักกระเจี๊ยบเขียวยังคงสดเหมือนเดิม

การส่งออก
กระเจี๊ยบเขียวมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นผักที่นิยมรับประทานมากชนิดหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น
ชนิด และคุณสมบัติของกระเจี๊ยบเขียวฝักอ่อนส่งออก
1. กระเจี๊ยบเขียวสด และแช่เย็น
ต้องเป็นฝักอ่อน และมีเส้นใยน้อย มีสีเขียวสด ไม่มีรอยโรคหรือแมลงกัด ฝักมีรูป 5 เหลี่ยม รูปทรงตรง ไม่คดงอ ความยาวฝัก 5-12 ซม.
2. กระเจี๊ยบเขียวทำสุก และแช่แข็ง
ต้องเป็นฝักอ่อน สีเขียวสด เส้นใยมีน้อย ไม่มีรอยโรคหรือแมลง ฝักรูปทรง 5 เหลี่ยม ฝักยาว 5-9 ซม.
3. กระเจี๊ยบเขียวอ่อนกระป๋อง
ต้องเป็นฝักอ่อน สีเขียวสด ขนาดเล็ก ที่มีอายุ 2-3 วัน หลังติดฝัก ไม่มีรอยโรคหรือแมลง ความยาวฝัก 2.5-5 ซม. ฝักมีรูป 8 เหลี่ยม

โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบจุด โรคแอนแทรคโนส เมื่อปรากฏโรคควรฉีดป้องกันด้วยเชื้อบาซิลลัส (BT) ฉีดพ่นในอัตรา 30 -50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา แมนโคเซป หรือ ไธอะเบนดาโซล ฉีดพ่นตามฉลากแนะนำ ส่วนโรคเส้นใบเหลือง ที่มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคไวรัส ฉีดพ่นด้วย คาร์โบซัลแฟน หรือ ฟิโปรนิล

แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อบาซิลลัส (BT) ฉีดพ่นในอัตรา 60 - 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารสกัดธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากสะเดา ฉีดพ่นในอัตรา 60 – 80 ซีซี ต่อนำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ทุก ๆ 7 วัน และอาจใช้การจัดการเกษตรที่ดีเข้าช่วยด้วยการปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช

การบริโภคกระเจี๊ยบเขียวให้เป็นยาสมุนไพร
สรรพคุณกระเจี๊ยบเขียวอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากอยู่ นอกจาก กระเจี๊ยบเขียว จะเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้แล้ว สรรพคุณกระเจี๊ยบเขียว ยังนิยมมาทำเป็นอาหารรับประทานอีกด้วย เพราะ ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียว มีมากมายจริง ๆ และวันนี้เราก็นำข้อมูขอบ ประโยชน์และสรรพคุณกระเจี๊ยบเขียวมาให้คุณๆ ได้ฟังและได้นำความรู้นี้ไปใช้ด้วยค่ะ เมื่อคุณได้เห็นประโยชน์และสรรพคุณกระเจี๊ยบเขียว แล้วเชื่อว่าใครหลาย ๆ คนต้องหันมารับประทาน กระเจี๊ยบเขียว กันมากขึ้นอย่างแน่นอนเลยล่ะค่ะ ว่าแล้วเราก็มาดูประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียว และ สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียว กันเลยดีกว่าค่ะ

ประโยชน์ / สรรพคุณกระเจี๊ยบเขียว
กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะในฝักกระเจี๊ยบนั้นมีสารเมือกพวกเพ็กติน (Pectin) และกัม (Gum) ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ให้ลุกลาม รักษาความดันให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงสมอง มีสรรพคุณเป็นยาระบายและสามารถแก้โรคพยาธิตัวจี๊ดได้ด้วย แต่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน

จาก ข้อมูล ของ วิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ ซึ่งแปรรูป กระเจี๊ยบเขียว ให้ข้อมูลว่า
+ รับประทานฝักกระเจี๊ยบ 10 -15 ฝัก ตอนเย็นหรือก่อนนอนสามารถลดอาการท้องผูก
+ รับประทาน 3 – 5 ฝัก ก่อนอาหารทุกวันสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
+ รับประทาน 10 – 15 ฝัก ทุกวันสามารถบำรุงตับ
+ รับประทาน 5 ฝัก ก่อนอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกันทุกวันสามารถกำจัดพยาธิตัวจี๊ด
+ รับประทาน 30 – 40 ฝัก ตอนเย็นหรือก่อนนอนสามารถดีท็อกซ์ลำไส้อุจจาระตกค้าง
+ รับประทานสม่ำเสมอ เป็นเส้นใยอาหารธรรมชาติมีแคลเซียมและวิตามินสูง
+ รับ ประทานประจำ มีโฟเลตสูงช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง บำรุงสมอง และพัฒนาการทารก ในครรภ์ 40 ฝักแห้ง มีโฟเลต เทียบเท่าที่คนต้องการในหนึ่งวัน 10 ฝัก มีโฟเลตเท่ากับ 25% ของความต้องการในหนึ่งวัน

No comments:

Post a Comment