Breaking

Sunday, October 8, 2017

การเลี้ยงกบ

การเลี้ยงกบ

การเลี้ยงกบ

การเพาะเลี้ยงกบ


กบ (Rana rugulosa) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลำตัวค่อนข้างกลมรี มีขา 2 คู่ คู่หน้าสั้น คู่หลังยาว หัวมีส่วนกว้างมากกว่าความยาวจะงอยปากสั้นทู่จมูกตั้งอยู่บริเวณโค้งตอนปลายของจะงอยปาก นัยน์ตาโต และมีหนังตาปิดเปิดได้ ปากกว้างมีฟันเป็นแผ่น ๆ อยู่บนกระดูกเพดาน ตัวผู้มีถุงเสียงอยู่ใต้คางและจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ขาคู่สั้นมีนิ้ว 4 นิ้ว ปลายนิ้วเป็นตุ่มกลม ขาคู่หลังยาวมี 5 นิ้ว ระหว่างนิ้วมีหนังเป็นพังผืด สีของลำตัวด้านหลังเป็นสีเขียวปนน้ำตาลมีจุดสีดำกระจายเป็นประอยู่ทั่วตัว ตามธรรมชาติกบจะหากินอยู่ตามลำห้วย หนอง บึง และท้องนา กบจะกินปลา กุ้ง แมลงและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร

แต่เนื่องจากสถานการณ์ความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่มีอัตราประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และปริมาณความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติหรือแม้แต่ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลงเป็นไปในลักษณะผกผัน โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรมของพี่น้องเกษตรกรที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติถึง 75 % นอกจากนั้นแล้วยังต้องพบกับความผิดหวังเนื่องจากเมื่อจำหน่ายผลผลิตไม่ได้ราคา หรือถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกษตรกรต้องขวนขวายหาแนวทางในการประกอบอาชีพใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การทำไร่นาสวนผสมการเลี้ยงกบหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ ฯลฯ แต่สำหรับการเลี้ยงกบนั้น ปัจจุบันเป็นที่สนใจของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย ลงทุนน้อย ดูแลรักษาง่าย และจำหน่ายได้ราคาคุ้มกับการลงทุน โดยเฉพาะในปัจจุบัน

มีตลาดต่างประเทศที่ต้องการสินค้ากบเปิดกว้างมากขึ้น กบนาที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรเมืองไทยจึงมีโอกาสส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศมากขึ้นเช่นกันและสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่มีผู้หันมาเลี้ยงกบกันมากขึ้น เพราะปริมาณกบที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงทุกที เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของกบถูกเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช การใช้ยากำจัดวัชพืช กำจัดปูนา ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำลายพันธุ์กบในธรรมชาติให้หมดสิ้นไปแต่ละปี

ทั้งนี้รวมทั้งการจับกบมาจำหน่ายหรือการประกอบอาหาร โดยไม่มีการละเว้นกบเล็กกบน้อย เป็นการตัดหนทางการแพร่พันธุ์กบโดยสิ้นเชิงอีกด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เลี้ยงกบหลายรายก็ต้องประสบความล้มเหลวในการเพาะเลี้ยงกบ อันเนื่องจากการไม่เข้าใจการเลี้ยง โดยเฉพาะไม่เข้าใจอุปนิสัยใจคอของกบซึ่งมีความสำคัญเพื่อประกอบการเลี้ยง เช่น กบมีนิสัยดุร้ายและชอบรังแกกัน การเลี้ยงกบคละกันโดยไม่คัดขนาดเท่า ๆ กัน ในบ่อเดียวกัน เป็นเหตุให้กบใหญ่รังแกและกัดกินกบเล็กเป็นอาหาร หรือไม่รู้ว่านิสัยใจคอของกบเป็นสัตว์ที่ชอบอิสระเสรี เมื่อสภาพที่เลี้ยงมีลักษณะโปร่ง เช่น เป็นอวนไนลอนทำให้กบสามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอกมันจะกระตือรือร้นที่จะดิ้นรนหาทางออกไปสู่โลกภายนอก โดยจะกระโดดชนอวนไนลอนจนปากบาดเจ็บและเป็นแผล เป็นเหตุให้ลดการกินอาหารหรือถ้าเจ็บมากๆ ถึงกับกินอาหารไม่ได้เลยก็มี อย่างไรก็ตาม

เอกสารคำแนะนำเรื่องการเลี้ยงกบนี้ จะแนะนำวิธีการเลี้ยงทั้งแบบกึ่งพัฒนา และการเลี้ยงแบบพัฒนา ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อผู้ที่สนใจจะได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงแต่ละแบบเพื่อนำไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทุนทรัพย์และสิ่งแวดล้อมต่อไป

การเลือกสถานที่สร้างคอกกบ หรือ บ่อเลี้ยงกบ
1. ควรเป็นที่ที่อยู่ใกล้บ้าน สะดวกต่อการดูแลรักษา และป้องกันศัตรูได้
2. เป็นที่สูง ที่ดอน เพื่อป้องกันน้ำท่วม
3. พื้นที่ราบเสมอ สะดวกต่อการสร้างคอกและแอ่งน้ำในคอก
4. ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำ
5. ให้ห่างจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน กบจะได้พักผ่อนเต็มทีและโตเร็ว

บ่อหรือคอกเลี้ยงกบ
สถานที่ที่จะทำบ่อเลี้ยงกบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ่อปูนหรือคอกเลี้ยง จะต้องไม่ควรอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัยมากนัก เพราะศัตรูของกบมีมากโดยเฉพาะกบนั้นเมื่อตกใจเพราะมีภัยมา มันจะไม่ส่งเสียงร้องให้เจ้าของรู้เหมือนสัตว์อื่นๆ ศัตรูของกบส่วนมากได้แก่ งู นก หนู หมา แมว และที่สำคัญที่สุดได้แก่ คน ดังนั้นถ้าบ่อเลี้ยงหรือคอกเลี้ยงกบ อยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยมาก ก็จะถูกคนขโมยจับกบไปขายหมด นกนั้นมีทั้งกลางวันและกลางคืน นกกลางคืนโดยเฉพาะนกเค้าแมวสามารถลงไปอยู่ปะปนแล้วจับกบกินอย่างง่ายดาย แมวนับว่ามีส่วนทำลายกบมากเพราะถึงแม้มันจะจับกบกินเพียงตัวเดียวแล้วก็อิ่ม แต่เมื่ออิ่มแล้วมันยังจับกบตัวอื่นๆ มาหยอกเล่น และทำให้กบตายในที่สุด

พันธุ์กบที่นำมาเลี้ยง
กบที่เหมาะสมจะนำมาเพาะเลี้ยงนี้ ได้แก่ กบนา ซึ่งถ้าเลี้ยงอย่างถูกต้องตามวิธีการและใช้เวลาเพียง 4-5 เดือน จะได้กบขนาด 4-5 ตัว/ กก. เป็นกบที่มีความเจริญเติบโตเร็ว โดยมีอัตราการแลกเปลี่ยนอาหาร 3.4 กก. ได้เนื้อกบ 1 กก.ทั้งยังเป็นกบที่มีผู้นิยมนำไปประกอบอาหารบริโภคกันมากกว่ากบพันธุ์อื่นๆ ลักษณะของกบนานั้นตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่ากบตัวเมีย และส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือ กบตัวผู้เมื่อจับพลิกหงายขึ้นจะเห็นมีกล่องเสียงอยู่ใต้คางแถวๆ มุนปากล่างทั้งสองข้าง ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวผู้จะเป็นผู้ส่งเสียงร้อง และในขณะที่ร้องนั้นส่วนของกล่องเสียงจะพองโตและใส ส่วนตัวเมียนั้นจะมองไม่เห็นส่วนของกล่องเสียงดังกล่าว กบตัวเมียจะร้องเช่นกันแต่เสียงออกเบา ถ้าอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์กบตัวเมียที่มีไข่แก่ (ท้องแก่)จะสังเกตเห็นส่วนของท้องบวมและใหญ่กว่าปกติ ขณะเดียวกันที่กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องบ่อยครั้งและสีของลำตัวออกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือมีสีเหลืองที่ใต้ขาเห็นชัดกว่าตัวเมีย แต่ถึงอย่างไรก็ตามสีของกบจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยสำหรับกบที่นิยมนำมาเลี้ยงอีกชนิดหนึ่ง คือ กบบลูฟร็อก ซึ่งกลบลูฟร็อกจะแตกต่างไปจากกบนาอย่างเห็นได้ชัด โดยมีผิวหนังส่วนใหญ่เรียบแต่มีบางส่วนขรุขระและเป็นสีน้ำตาลปนเขียว มีจุดสีน้ำตาล ลักษณะเด่นเห็นชัดคือมีส่วนหัวที่เป็นสีเขียวเคลือบน้ำตาลและที่ข้างท้องมีลายน้ำตาลใต้ท้องเป็นสีขาว ขาทั้งสี่เป็นลายน้ำตาลดำ ลำตัวอ้วนโดยเฉพาะส่วนท้องใหญ่กว่ากบนา กบที่โตเต็มที่จะมีลักษณะกระเดียดไปทางอึ่งอ่าง ด้วยลักษณะประจำตัวเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีกบชนิดนี้วางจำหน่ายทั้งตัวในตลาดสด เพราะนอกจากจะมีลักษณะไม่ชวนให้ซื้อหามาประกอบอาหารแล้ว รสชาติของเนื้อกบบลูฟร็อกยังมีคุณภาพสู้กบนาไม่ได้อีกด้วย ส่วนลักษณะกบตัวผู้นั้นจะมีวงแก้วหูใหญ่อยู่ด้านหลังตาและใหญ่กว่าตา กบบลูฟร็อกตัวผู้ทุกพันธุ์ใต้คางจะเป็นสีเหลืองส่วนกบตัวเมียจะเห็นวงแก้วหูเล็กกว่าตา สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงกบบลูฟร็อกจะต้องคำนึงถึงตลาดถ้าท่านไม่มีตลาดต่างประเทศรองรับ หรือไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศ ควรเลี้ยงกบนาซึ่งมีตลาดทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งระยะเวลาเลี้ยงยังน้อยกว่าอีกด้วย

การเพาะพันธุ์กบ
การเตรียมพ่อ-แม่พันธุ์กบนา สามารถทำได้ 2 วิธีคือ
1. รวบรวมจากธรรมชาติหรือหาซื้อจากแหล่งเพาะเลี้ยงกบอื่นๆ ที่เชื่อถือได้
2. พ่อ-แม่พันธุ์จากที่เลี้ยงไว้เพาะพันธุ์ขึ้นเอง
     2.1 ทำการคัดเลือกกบเพศผู้ เพศเมียที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีอัตราการเจริญเติบโตปกติสม่ำเสมอ มีรูปร่างสมส่วนตามสายพันธุ์ ไม่มีบาดแผลตามลำตัว และปราศจากโรค
     2.2 การเลี้ยงเพื่อทำพ่อ-แม่พันธุ์ ความเลี้ยงแยกเพศ และสามารถแยกเพศได้โดยการดูลักษณะเพศจากภายนอกซึ่งโดยทั่วไปกบเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่ากบเพศเมีย มีกล่องเสียงอยู่ใต้คางทั้งสองข้าง ในกบเพศเมียจะไม่มีสีบนลำตัวเพศผู้จะมีสีเหลืองอ่อนๆ หรือมีสีเหลืองที่ใต้ขาเด่นชัดกว่าเพศเมีย
     2.3 ระหว่างการเลี้ยงเพื่อทำพ่อ-แม่พันธุ์ ควารมีการเสริมวิตามินต่างๆ เช่น วิตามิน C D E และวิตามินรวมอื่นๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรค และช่วยการพัฒนารังไข่และน้ำเเชื้อให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังควรที่จะต้องมีการถ่ายพยาธิด้วยอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อกำจัดโปรโตซัว
บางชนิดซึ่งบางครั้งกบที่เลี้ยงนี้อาจมีการติดเชื้อโปรโตซัวในทางเดินอาหารและถ้าเป็นติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะทำให้กบตายได้
     2.4 อัตราที่ปล่อยเลี้ยง 30 ตัวต่อตารางเมตร
     2.5 ภายในบ่อควรใส่วัสดุสำหรับเป็นที่หลบซ่อน
     2.6 พ่อ-แม่พันธุ์ที่พร้อมและสมบูรณ์เพศควรมีอายุตั้งแต่ 1-2 ปี

การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์
1. ล้างทำความสะอาดบ่อเพาะพันธุ์ก่อนที่จะทำการเพาะด้วยด่างทับทิมเข้มข้น 10 ppm แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นล้างทำความ สะอาดให้หมด
2. เติมน้ำสะอาดใส่บ่อให้ลึกประมาณ 5-7 ซม. และไม่ควรให้ระดับน้ำสูงเกินไปกว่านี้เพราะไม่สะดวกในการที่กบตัวผู้จะโอบรัดตัวเมีย
ขณะที่กบตัวเมียเบ่งไข่ออกมาจากท้อง มันจะต้องใช้ขาหลังยันที่พื้น ถ้าน้ำลึกมากขาหลังจะยันพื้นไม่ถึงและจะลอยน้ำทำให้ไม่มีพลัง เป็นเหตุให้ไข่ออกมา
ไม่มาก
3. เตรียมฝนเทียม โดยทั่วไปกบจะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน แต่สำหรับการเพาะพันธุ์ เราจะทำให้เหมือนธรรมชาติ ด้วยวิธีเลียนแบบ
ธรรมชาติ ซึ่งทำได้โดยการนำเอาท่อ PVC ขนาด ครึ่งนิ้ว มาเจาะรูเล็กๆ ตามท่อต่อน้ำเข้าไปและให้น้ำไหลออกได้คล้ายฝนตก และนำท่อน้ำฝนเทียมนี้ไป
พาดไว้บนปากบ่อหรือหลังคาคลุมบ่อและเปิดใช้เวลาที่จะทำการผสมพันธุ์กบ

การคัดพ่อ-แม่พันธุ์
1. แม่พันธุ์ตัวที่มีไข่ส่วนท้องจะขยายใหญ่ และจะมีปุ่มสากข้างลำตัวทั้ 2 ข้าง เมื่อเราใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ และแม่พันธุ์ตัวที่พร้อมมาก
จะมีปุ่มสากมากแต่เมื่อไข่หมอท้องปุ่มสากนี้ก็จะหายไป
2. การคัดเลือกพ่อพันธุ์ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องเสียงดังและกล่องเสียงที่ใต้คางก็จะพองโปน ลำตัวจะมีสีเหลืองเข้มและ
เมื่อเราใช้นิ้วสอดที่ใต้ท้อง มันจะใช้หน้ากอดรัดนิ้วเราไว้แน่น

การผสมพันธุ์
1. ปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ลงไปในบ่อที่เตรียมไว้แล้ว โดยใช้อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย จำนวน 1:1 ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. และจะต้องทำการปล่อยให้กบผสมกันในตอนเย็น
2. เมื่อปล่อยกบลงไปแล้วจึงเปิดฝนเทียมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้กบจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลา ประมาณ 17.00 น. - 22.00 น. ซึ่งภายในบ่อเพาะต้องมีท่อให้น้ำล้นออกด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินไป
3. กบจะจับคู่ผสมพันธุ์และจะปล่อยไข่ตอนเช้ามืด

การลำเลียงไข่กบจากบ่อผสมไปบ่ออนุบาล
1. หลังจากกบปล่อยไข่แล้วในตอนเช้าจะต้องทำการจับกบขึ้นไปใส่ไว้ในบ่อดินจากนั้นจะค่อยๆ ลดน้ำในบ่อลงโดยใช้วิธีเปิดวาวล์ที่ท่อระบายน้ำ และใช้สวิงผ้านิ่มๆ รองรับไข่ที่ไหลตามน้ำออกมา โดยขณะที่น้ำลดนั้นต้องคอยใช้สายยางฉีดน้ำ ไล่ไข่ออกมาโดยจะต้องทำเบาๆ และควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ไข่แตกและจะต้องทำการลำเลียงไข่ในตอนเช้า ขณะที่ไข่กบยังมีวุ้นเหนียวหุ้มอยู่
2. นำไข่ที่รวบรวมได้ไปใส่บ่ออนุบาลโดยใช้ถ้วยตวงตักไข่ โรยให้ทั่วๆ บ่อแต่ต้องระวังไม่ให้ไข่กบซ้อนทับกันมากเพราะจำทำให้ไข่เสียและไม่ฟักเป็นตัว เนื่องจากขาดออกซิเจน
3. ระดับน้ำที่ใช้ในการฟักไข่ประมาณ 7-10 ซม. ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 24 ชม.

การอนุบาลลูกกบ
อาหารและการให้อาหาร
1. เมื่อไข่กบฟักออกเป็นตัวแล้วช่วงระยะ 2 วันยังไม่ต้องให้อาหารเพราะยังไใช้ไข่แดง (yolk sac) ที่ติดมาเลี้ยงตัวเองอยู่ หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหาร เช่น ไรแดง ไข่ตุ๋น อาหารเม็ด ตามลำดับ
- อายุ 3 - 7 วัน ให้อาหาร 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 5 มื้อต่อวัน
- อายุ 7 - 21 วัน ให้อาหาร 10-15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 5 มื้อต่อวัน
- อายุ 21 - 30 วัน ให้อาหาร 5-10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 4 มื้อต่อวัน
- อายุ 1 - 4 เดือน ให้อาหาร 4-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 2 มื้อต่อวัน
การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
1. เมื่อลูกอ๊อดฟักออกเป็นตัวจะต้องเพิ่มระดับน้ำในบ่อขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ที่ระดับความลึก 30 ซม.
2. ลูกอ๊อดอายุครบ 4 วัน จะต้องทำาการย้ายบ่อครั้งที่ 1 และระดับน้ำที่ใช้เลี้ยงควรอยู่ที่ระดับ 30 ซม.
3. เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆ ละ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
4. ทุกๆ 3-4 วัน ทำการย้ายบ่อพร้อมกับคัดขนาดลูกอ๊อด
5. เมื่อลูกอ๊อดเริ่มเข้าที่ขาหน้าเริ่มงอกต้องลดระดับน้ำในบ่อลงมาอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 5-10 ซม. และจะต้องใส่วัสดุที่ใช้สำหรับเกาะอาศัยลงไปในบ่อ เช่น ทางมะพร้าว แผ่นโฟม เป็นต้น
การคัดขนาดลูกกบนา
1. ลูกอ๊อดในบ่อเดียวกันเมื่อเลี้ยงไปได้ประมาณ 1 สัปดาห์หลังฟักออกจากไข่จะเริ่มมีขนาดไม่เท่ากัน เนื่องจากการที่กบกินอาหารไม่ทันกันดังนั้นจึงต้องทำการคัดขนาด เมื่อลูกอ๊อดอายุได้ประมาณ 7 - 10 วัน โดยการใช้ตะแกรงคัดขนาดที่ทำจากตาข่ายพลาสติกที่มีขนาดของช่องตาขนาดต่างๆกัน ซึ่งเราสามารถเลือกซื้อตามขนาดของตัวอ๊อดระยะต่างๆ ได้
2. ทุก 3-4 วันทำการคัดขนาด แยกบ่อ
3. ในระยะที่ลูกอ๊อดบางตัวเริ่มมีขาหน้างอกออกมาจะใช้ตะแกรงคัดขนาดไม่ได้แล้ว เนื่องจากลูกอ๊อดจะเกาะอยู่ที่ตะแกรงและไม่ลอดช่องลงไปจนต้องเปลี่ยนมาใช้กะละมังเติมน้ำให้เต็มแล้วคัดลูกกบ 4 ขาออกไปใส่บ่อเดียวกันไว้
4. เมื่อลูกกบอายุประมาณ 1 เดือนลูกกบจะเป็นตัวเต็มวัยไม่พร้อมกันบางตัวที่หางยังครบก็อยู่ในน้ำ บางตัวที่หางหดเป็นตัวเต็มวัยแล้วก็จะอยู่บนบกระยะนี้จะต้องคัดแยกลูกกบที่เหมือนตัวเต็มวัยออกไปใส่บ่ออื่น และยังต้องคัดขนาดลูกกบที่โตไม่เท่ากันออกจากกัน
- อายุ 7 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 2,000 ตัว/ตร.ม.
- อาย ุ 8 - 14 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 1,500 ตัว/ตร.ม.
- อายุ 15 - 25 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 800 ตัว/ตร.ม.
- อาย ุ 26 - 30 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 500 ตัว/ตร.ม.
- อายุ 1 - 4 เดือน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 100 - 150 ตัว/ตร.ม.

การดูแลและเลี้ยงกบเต็มวัยจนเป็นกบโต ลูกอ๊อดเจริญเติบโตเป็นกบเต็มวัยแล้ว มันจะขึ้นจากน้ำไปอาศัยอยู่บนบกหรือวัสดุอื่นๆ ที่ลอยน้ำ เมื่อคัดขนาดนำไปเลี้ยงในบ่อแล้วต้องเตรียมอาหารให้ถ้าเป็นลูกอ๊อดที่เคยให้อาหารเม็ดกินแต่แรก ก็สามารถให้อาหารเม็ดดังกล่าวกินได้ต่อไป แต่ถ้าหากเป็นลูกกบที่ไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อนก็ต้องมีการฝึกการกินอาหารเม็นในขั้นต่อไป เพราะโดยธรรมชาติลูกกบจะกินอาหารเป็นสิ่งที่มีชีวิต เช่น แมลง ไส้เดือน ปลวก หนอน ลูกปลา ลูกกุ้ง ฯลฯ แต่การเลี้ยงกบนั้นไม่สามารถที่จะหาอาหารสิ่งมีชีวิตดังกล่าวให้ได้โดยตลอด เพราะอาหารหลักคือเนื้อปลา

เกษตรกรจึงต้องใช้วิธีการฝึกให้ลูกกบกินปลา โดยการเพาะหนอนแล้วนำไปใส่ในกองปลาสับที่อยู่ในถาดให้อาหาร หนอนจะชอนไชอยู่ในกองปลาสับ ลูกกบจะเข้ามากินหนอนแต่ก็ติดปลาสับเข้าไปด้วย พอวันที่สองใส่หนอนลงบนกองปลาสับน้อยกว่าวันแรก วันที่ 3 และวันที่ 4 ก็เช่นเดียวกัน คือลดจำนวนหนอนลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เพิ่มปริมาณปลาสับมากขึ้นจนวันที่ 5 บนถาดอาหารจะมีเฉพาะกองปลาสับเพียงอย่างเดียวลูกกบก็เข้ามากินปลาสับตามปกติและเมื่อลูกกบมีขนาดโตขึ้น อาหารปลาสับละเอียดก็เปลี่ยนเป็นชิ้นเล็กๆ และมีเพิ่มขนาดขึ้น ตามขนาดของปากกบ หรือเมื่อกบโตเต็มที่ก็อาจจะโยนปลาที่มีขนาดพอเหมาะกับปากให้ทั้งตัวก็ได้ปริมาณการแลกอาหารเปลี่ยนเป็นเนื้อกบ 3.4:1

สำหรับลูกกบที่จับตามธรรมชาติแล้วนำมาเลี้ยงรวมในบ่อเป็นเวลา 1-2 วัน จึงเริ่มให้อาหารกบ ลูกกบเหล่านี้เคยกินอาหารตามธรรมชาติมาแล้ว และเมื่อปล่อยเลี้ยงใหม่ๆ ยังเหนื่อยและตื่นกับสภาพแวดล้อมใหม่ จึงไม่สนใจกับการกินอาหาร และถ้าผู้เลี้ยงจะไม่ฝึกให้กินหนอนร่วมกับปลาบด โดยให้ปลาบดหรือปลาสับอย่างเดียวโยนให้กินพอแต่น้อยๆ ก่อน ซึ่งกบจะกินเพราะความหิวให้อาหารวันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้า 07.00 น. และตอนเย็น 17.00 น.ปริมาณให้อาหารในอัตรา 10% ของน้ำหนักตัว คือ ถ้าปล่อยกบลงเลี้ยงมีน้ำหนักรวม 100 กก. ก็จะให้อาหารวันละ 10 กก.แบ่งออกเป็น 2 เวลาดังกล่าว หลักจากเลี้ยงได้นาน 2 อาทิตย์ ลูกกบก็จะเริ่มชินกับอาหาร และเมื่อกบโตขึ้นก็เปลี่ยนเป็นปลาหั่นเป็นชิ้นๆ หรือโยนปลาให้ทั้งตัวเมื่อปลามีขนาดพอๆกับปากกบแต่สำหรับผู้เลี้ยงกบบางรายที่หาอาหารสดไม่พอ อาจใช้ปลายข้าว 1 ส่วน ผักบุ้ง 2 ส่วน ต้มรวมไปกับอาหารสด คือเนื้อปลา เนื้อหอยโข่งหรือ ปูที่เด็ดเอาก้ามออกทิ้งก่อน เมื่อต้มแล้วปล่อยให้เย็นจึงนำไปให้กบกินได้เช่นกัน

อนึ่ง การเปิดไฟล่อให้แมลงมาเล่นไฟ และตกลงไปเป็นอาหารกบไม่สู้จะเป็นผลดีเท่าใดนัก เพราะจะทำให้กบอดหลับอดนอนคอยเฝ้าแมลงที่จะตกลงมาให้กบกิน อีกทั้งแมลงที่มาเล่นไฟเหล่านี้บางครั้งจะเป็นอัตรายต่อกบ เช่นแมลงที่มีพิษอยู่ในตัว แมลงที่ไปถูกยากำจัดศัตรูพืชและไม่ตายโดยทันที เมื่อมาเล่นไฟและตกลงไปให้กบกิน พิษยากำจัดแมลงก็จะเข้าไปส่งผลต่อกบด้วยและอาจทำให้กบตายในที่สุด จึงเป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงพบกบตายโดยไม่มีบาดแผล และการตายในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบกับกบที่กินอาหารบูดเสีย

ดังนั้น เมื่อให้อาหารมื้อเช้าเวลา 07.00 น. แล้วควรเก็บเศษอาหารที่เหลือและนำภาชนะไปล้างทำความสะอาดเมื่อเวลา 10.00 น. ส่วนมื้อเย็นให้เวลา 17.00 น. ปล่อยทิ้งไว้ตลอดคืนได้เพราะในช่วงเวลากลางคืนอากาศเย็น โอกาสที่อาหารจะบูดเสียมีน้อย อีกทั้งอุปนิสัยของกบชอบหาอาหารกินในเวลากลางคืนอยู่แล้ว ดังนั้นกว่าจะถึงตอนเช้าอาหารจะหมดเสียก่อนอัตราการให้อาหารที่เลี้ยงในลักษณะคอก มีบ่อน้ำตรงกลาง เป็นคอกขนาด 4 x 4 เมตร ปล่อยกบ 1,000 ตัว ให้อาหารดังนี้
กบอายุ 50 วัน ให้อาหารสด 400 กรัม/วัน
กบอายุ 60 วัน ให้อาหารสด 600 กรัม/วัน
กบอายุ 90 วัน ให้อาหารสด 1.5 กรัม/วัน
กบอายุ 120 วัน ให้อาหารสด 3 กรัม/วัน
กบอายุ 150 วัน ให้อาหารสด 4 กรัม/วัน

ในการเลี้ยงกบ จำเป็นต้องคอยคัดขนาดของกบให้มีขนาดเท่าๆ กัน ลงเลี้ยงในบ่อเดียวกัน มิฉะนั้น กบใหญ่จะรังแกและกินกบเล็ก ซึ่ง ทำให้ต้องตายทั้งคู่ ทั้งตัวที่ถูกกินและตัวที่กิน

การเลี้ยงกบในบ่อดิน
ใช้พื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางเมตร ภายในคอกเป็นบ่ำน้ำลึกประมาณ 1 เมตร บางแห่งอาจจะทำเกาะกลางบ่อเพื่อเป็นที่พักของกบและที่ให้อาหาร แต่บางแห่งใช้ไม้กระดานทำเป็นพื้นลาดลงจากชานบ่อก็ได้ ส่วนพื้นที่รอบๆ ขอบบ่อภายในที่ห่างจากรั้วคอกอวนไน ลอน กว้าง 1 เมตร ปล่อยให้หญ้าขึ้น หรือบางรายอาจปลูกตะไคร้เพื่อให้กบใช้เพื่อให้กบใช้เป็นที่หลบอาศัยภายในบ่อที่เป็นพื้นน้ำจะมีพวกผักตบชวาหรือพืชน้ำอื่นๆ ให้กบเป็นที่หลบซ่อนภัยและอาศัยความร่มเย็นเช่นกัน คอกที่ล้อมรอยด้วยอ้วนไนลอนนี้ ด้านล่างจะใช้ถังยางมะตอยผ่าซีก หรือแผ่นสังกะสีฝังลึกลงดินประมาณ 1 ศอก เพื่อป้องกันศัตรูพืชบางชนิด เช่น หนู ขุดรูลอดเข้าไปทำอัตรายกับกบที่อยู่ในบ่อหรือในคอกส่วนด้านบนของบ่อมุมใดมุมหนึ่งจะมุงด้วยทางมะพร้าวเพื่อเป็นร่มเงาและยังใช้เป็นที่ให้อาหารกบอีกด้วย
นอกจากนั้นลำไม้ไผ่สอดกลางเพื่อให้เกิดช่องว่างให้กบเข้าไปหลบอาศัย และด้านบนนั้นก็เป็นที่รองรับอาหารที่โยนลงไปให้กบกินได้เช่นกันลักษณะบ่อเลี้ยงกบเช่นนี้ มีเลี้ยงกันมากที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยใช้พันธุ์กบที่ซื้อมาจากนักล่ากบในท้องถิ่น ที่ออกจับกบตามธรรมชาติเป็นลูกกบขนาด 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม ซื้อขายกันในราคา กก. ละ 20-30 บาท และจะนำลูกกบที่มีน้ำหนักรวม 100 กก. ปล่อยลงในเนื้อที่ 100ตารางเมตร หลังจากปล่อยลูกกบแล้ว 2-3 วัน จึงเริ่มให้อาหารเพราะเมื่อปล่อยลูกกบลงเลี้ยงใหม่ๆ ลูกกบยังเหนื่อยและตื่นต่อสภาพที่อยู่ใหม่ อาหารที่นำมาให้ไม่เป็นไปตามที่มันเคยกิน คือ เป็นปลาสับหรือปลาบดที่โยนให้กินทีละน้อยๆ ก่อน จนกว่าลูกกบจะเคยชินและเมื่อกบโตขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นปลาหั่นแบบชิ้นๆหรือถ้าเป็นปลาเล็กก็โยนให้ทั้งตัว หรือถ้าเป็นปูนาก็ต้องเด็ดขาเด็ดก้ามทิ้งเสียก่อน หรือถ้าเป็นหอยโข่งก็ทุบเอาเปลือกออกเอาเฉพาะเนื้อใน แล้วโยนลงบนแผงที่ให้อาหารในบ่อเพื่อให้กบกินต่อไป

การเลี้ยงกบในคอก
เป็นการเลี้ยงกบอีกแบบหนึ่ง โดยเมื่อปรับพื้นที่ราบเรียบเสมอกันดีแล้ว ทำการขุดอ่างน้ำไว้ตรงกลางคอก เช่น คอกขนาด 4 x 4 เมตร ขนาด 6 x 6 เมตร หรือขนาด 8 x 8 เมตร ต้องทำแอ่งน้ำขนาด 2 x 3 เมตร มีความลึกประมาณ 20 ซม. เป็นบ่อซีเมนต์และลาดพื้นแอ่งน้ำเป็นพื้นที่ชานบ่อทั้ง 4 ด้าน ขัดมันกันรั่ว ใส่ท่อระบายน้ำจากแอ่งขนาด 0.5 นิ้ว รอบๆ แอ่งน้ำเป็นพื้นที่ชานบ่อทั้ง 4 ด้าน เพื่อสะดวกต่อการให้อาหารและที่กบได้พักอาศัย รอบๆ คอกปักเสาทั้ง 4 ด้านให้ห่างกัน ช่วงละ 2 เมตร ผูกเคร่าบนและล่างยึดเสาไว้นำอวนสีเขียวมาขึงรอบนอก ส่วนด้านล่างให้ฝังอวนลงใต้ดินลึก 20 ซม. แล้วเหยียบดินให้แน่น จากนั้นจึงนำไม้มาวางพาดด้านบนแลผูกให้ติดกับเคร่าห่างช่วงละ 1 เมตร นำทางมะพร้าวแห้งมาพาดให้เต็มแต่อย่าแน่นเกินไป แล้วหากระบะไม้ กะละมังแตก หรือกระบอกไม้ไผ่อันใหญ่ๆ มาวางไว้ในคอกเพื่อให้กบหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน ส่วนกระบะหรือลังไม้ที่นำมาวาง ให้เจาะประตูเข้าออกทางด้านหัวและท้ายเพื่อสะดวกต่อการจับกบจำหน่ายการทำคอกเลี้ยงกลแบบนี้ มีอัตราปล่อยกบลงเลี้ยง คือ
คอกขนาด 4 x 4 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 1,000 ตัว
คอกขนาด 6 x 6 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 1,200 ตัว
คอกขนาด 8 x 8 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 2,500 ตัว

การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์
เป็นการเลี้ยงที่มีผู้นิยมกันมากในปัจจุบันเพราะดูแลรักษาง่าย กบมีความเป็นอยู่ดีและเจริญเติบโตดี อีกทั้งเป็นการสะดวกสบายต่อผู้เลี้ยงในด้านการดูแลรักษา บ่อกบดังกล่าวนี้สร้างด้วยการก่อแผ่นซีเมนต์ หรือที่เรียกว่าแผ่นซีเมนต์บล๊อก และฉาบด้วยปูนซีเมนต์ ปูนที่ฉาบจะหนาเป็นพิเศษ ตรงส่วนล่างที่เก็บขังน้ำ คือ มีความสูงจากพื้นเพียง 1 ฟุต พื้นล่างเทปูนหนาเพื่อรองรับน้ำ และมีท่อระบายน้ำอยู่ตรงส่วนที่ลาดสุด พื้นที่เป็นที่ขังน้ำนี้ นำวัสดุลอยน้ำ เช่น ไม้กระดาน ขอนไม้ ต้นมะพร้าว ให้ลอยน้ำ

เพื่อให้กบขึ้นไปเป็นที่อยู่อาศัย บางแห่งในส่วนพื้นที่ใต้น้ำยังเป็นที่เลี้ยงปลาดุกได้อีก โดยปล่อยปลาดุกลงเลี้ยงร่วมกับกบในอัตรา กบ 100 ตัวต่อปลาดุก 20 ตัว ซึ่งเป็นผลดีเมื่อเปรียบเทียบได้ชัด คือ ปลาดุกจะช่วยทำความสะอาดภายในบ่อ โดยเก็บเศษอาหารและมูลกบกิน ทำให้น้ำในบ่อสะอาดและอยู่ได้นานกว่าบ่อที่ไม่ได้ปล่อยปลาดุก ซึ่งนอกจากจะเป็นการทุ่นแรงงานแล้วยังทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย อีกทั้งระยะเวลาเลี้ยง ตลอดจนการจำหน่ายกบและปลาดุกอยู่ในเวลาเดียวกันสำหรับด้านบนของบ่อจะเปิดกว้างเพื่อให้แดดส่องลงไปทั่วถึง ซึ่งกบจะขึ้นมาตากแดดกันอย่างปกติสุข

นอกเสียจากตัวแห้งมากๆ มันจะกระโดดลงในน้ำแล้วขึ้นมาใหม่ แต่ถึงอย่างไรที่มุมใดมุมหนึ่งของบ่อก็ต้องหาวัสดุ เช่น ทางมะพร้าว เพื่อเป็นส่วนของร่มและปิดบังเงาวูบวาบของนกที่บินผ่าน ซึ่งทำให้กบตกใจและไม่กินอาหาร รวมทั้งจะไม่ผสมพันธุ์อีกด้วยบ่อเลี้ยงกบนี้ เป็นขนาด 3 x 4 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ 1,000 ตัวและปลาดุกอีก 200 ตัวพื้นล่างของบ่อดังกล่าว นอกจากเป็นพื้นน้ำทั้งหมดและใช้วัสดุลอยน้ำให้กบได้อาศัยอยู่แล้ว บางแห่งอาจจะใช้ก่อปูนในลักษณะเกาะกลางคือเป็นพื้นซีเมนต์และเป็นเนินลาดจากตรงกลางซึ่งไม่ควรทำแบบพื้นก้นกะทะ และมีชานบ่ออยู่ริมโดยรอบบ่อ เพราะจะทำให้กบมีแรงจากเท้าหลังยันพื้นกระโดดสูงไปได้ แต่ถ้าเป็นลักษณะเนินตรงกลางและมีพื้นน้ำรอบๆ กบก็ไม่สามารถมีแรงกระโดดขึ้นจากน้ำได้ การเลี้ยงกบในบ่อลักษณะนี้ กบก็ไม่สามารถมองเห็นโลกภายนอก และไม่คิดดิ้นรนจะกระโดดหนีออกไปอยู่แล้ว

การเลี้ยงกบในกระชัง
โดยใช้กระชังเลี้ยงเช่นเดียวกับกระชังเลี้ยงปลามีความกว้างประมาณ 1.50 เมตร และยาว 4 เมตร กระชังดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากการเพาะพันธุ์กบ คือ เมื่อเพาะกบและเลี้ยงลูกอ๊อดจนเป็นกบเต็มวัยแล้วจึงคัดขนาดลูกกบนำไปเลี้ยงในบ่อซีเมนตร์หรือในกระชังอื่นๆหรือจำหน่าย ส่วนที่เหลือก็เลี้ยงต่อในกระชังต่อไป พื้นที่ใต้กระชังใช้แผ่นกระดาน หรือแผ่นโฟมสอดด้านล่าง เพื่อให้เกิดส่วนนูนในกระชังและกบได้ขึ้นไปอยู่อาศัยส่วนรอบๆ ภายนอกกระชังใช้วัสดุ เช่น แฝก หญ้าคา หรือทางมะพร้าว เพื่อไม่ให้กบมองเห็นทิวทัศน์นอกกระชัง มิฉะนั้นกบจะหาหนทางหลบหนีออกโดยกระโดดและชนผืนอวกกระชังเป็นเหตุให้ปากเป็นแผลและเจ็บปวดจนกินอาหารไม่ได้ ส่วนด้านบนกระชังก็มีวัสดุพรางแสงให้เช่นกัน

การจับกบจำหน่าย เนื่องจากสภาพบ่อเลี้ยงกบมีความแตกต่างกัน ทำให้ความสะดวกในการดูแลรักษาย่อมแตกต่างกันดังกล่าวแล้ว ยังรวมไปถึงการจับกบจำหน่ายก็แตกต่างกันอีกด้วย กล่าวคือ
1. การเลี้ยงกบในบ่อดิน ลักษณะการเลี้ยงกบแบบนี้จะจับกบจำหน่ายได้ครั้งเดียวในเวลาที่พร้อมกัน ไม่มีการจับกบจำหน่ายปลีก หรือเป็นครั้งคราว ทั้งนี้เพราะสภาพบ่อเลี้ยงไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้จะเป็นการจับเพียงครั้งเดียวให้หมดบ่อจะต้องให้ผู้จับหลายคนลงไปในบ่อเลี้ยงที่มีสภาพโคลนตมและต้องเก็บพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ขึ้นให้หมดก่อน จึงต้องใช้เวลาและแรงงานมากที่จะเที่ยวไล่จับกบที่หลบซ่อนให้หมดในครั้งเดียว
2. การเลี้ยงกบในคอก สามารถจับกบได้ทุกโอกาสไม่ว่าจะจับหมดทั้งคอกหรือมีการจำหน่ายปลีก โดยมีกระบะไม้และทำเป็นช่องเข้าออกในด้านตรงกันข้ามวางอยู่หลายอันบนพื้นดินภายในคอก ซึ่งกบจะเข้าไปอาศัยอยู่ เมื่อถึงเวลาจะจับกบ ก็ใช้กระสอบเปิดปากไว้รออยู่ที่ช่องด้านหนึ่งแล้วใช้มือล้วงเข้าไปในช่องด้านตรงกันข้าม กบจะหนีออกอีกช่องทางหนึ่งที่มีปากกระสอบรอรับอยู่และเข้าไปในกระสอบกันหมด เป็นการกระทำที่สะดวก กบไม่ตกใจและบอบช้ำ
3. การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ สามารถจับกบได้ทุกโอกาสไม่ว่าจะจับหมดทั้งบ่อหรือจับจำหน่ายปลีก โดยใช้คนเพียงคนเดียวพร้อมทั้งสวิงเมื่อลงไปในบ่อซึ่งมีน้ำเพียง 1 ฟุต กบจะกระโดดลงไปมุดอยู่ในน้ำ จึงใช้สวิงช้อนขึ้นมาหรือใช้มือจับใส่สวิงอย่างง่ายดาย ในบ่อหนึ่งๆ ขนาด 12ตารางเมตร เลี้ยงกบประมาณ 1,000 ตัว ใช้คนๆ เดียวจับเพียง 1 ชั่วโมงก็แล้วเสร็จ

อนึ่ง การเลี้ยงกบควรคำนึงถึงระยะเวลาเลี้ยงควบคู่ไปกับระยะเวลาที่จะจับกบจำหน่าย เนื่องจากในฤดูฝน กบจะมีราคาดูก ถ้าผู้เลี้ยงจะต้องจับกบจำหน่ายในช่วงนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนน้อย แต่ถ้ากะเวลาเลี้ยงและเวลาจับจำหน่ายให้ถูกต้อง คือ เมื่อรู้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเลยงกบนาน 4 เดือน จึงต้องกะระยะเวลาเดือนที่ 4 ให้ตรงกับในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูร้อน เพราะในช่วงนี้กบราคาแพง ผู้เลี้ยงสามารถขายได้ในราคาที่ดคุ้มกับกับการลงทุน อีกทั้งผู้ที่ต้องการจำหน่ายปลีก ควรจะติดต่อตกลงราคาและจำนวนกับผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นตลาดสดหรือร้านอาหารให้เป็นที่แน่นอนก่อนจึงจะจับกบไปส่งจำหน่ายได้ต่อไป

ในการลำเลียงกบไม่ว่าจะเป็นกบเล็กกบใหญ่ ในภาชนะลำเลียงกบควรมีน้ำเพียงเล็กน้อย และจะต้องมีวัสดุ เช่น หญ้า ฟาง ผักบุ้ง ผักตบชวาเพื่อให้กบเข้าไปซุกอาศัยอยู่ มิฉะนั้นในระหว่างเดินทางกบจะกระโดดเต้นไปมาเกิดอาการจุกเสียดแน่นและเป็นแผลการดูแลรักษา นอกจากจะเอาใส่ในเรื่องการให้อาหาร การรักษาความสะอาดของภาชนะที่ให้อาหารดังกล่าวแล้ว ในการเลี้ยงจะต้องคำนึงถึงความสะอดา โดยเฉพาะในแอ่งน้ำหรือการเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ ต้องมีการขัดล้างถ่ายเทน้ำในบางครั้ง

ทั้งนี้ถ้าที่อยู่อาศัยของกบสะอาดและมีสุขลักษณะที่ดีความเป็นอยู่และการเจริญเติบโตของกบก็ดี ลดอัตราการเป็นโรคพยาธิเบียดเบียนแต่กบเป็นสัตว์ที่ตื่น และตกใจง่าย ซึ่งเมื่อเกิดการตกใจดังกล่าวกบจะเกิดการชักเป็นตะคริวและถึงกับช็อกตายได้ หรือเมื่อเกิดตกใจก็จะกระโดดเต้นไปมาในบ่อและจะเกิดอาการกระทบกระแทก เป็นแผลฟกช้ำจุกเสียด เมื่อเป็นมากๆ ก็มีโอกาสถึงตายได้เช่นกัน ดังนั้น การทำความสะอาดภายในบ่อเลี้ยงกบ จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้
1. งดให้อาหารกบก่อนลงไปทำความสะอาด เพราะถ้ากบกินอาหารแล้วต้องกระโดดเต้นไปมาเพราะตกใจเนื่องจากคนลงไปรบกวนที่อยู่อาศัย โอกาสจุกเสียดแน่นถึงตายมีมาก
2. ควรหาวัสดุที่โปร่งเป็นโพรง เช่น ทางมะพร้าวสุมทุมเพื่อให้กบเข้าไปหลบซ่อนตัวเมื่อเข้าไปทำความสะอาด โดยเฉพาะในบ่อซีเมนต์เมื่อปล่อยน้ำเก่าทิ้งจนแห้ง กบจะเข้าไปหลบตัวในสุมทุมนั้น จะไม่ออกมากระโดดเต้นจนเป็นเหตุให้เจ็บป่วย
3. หลังจากทำความสะอาดแล้ว อาหารมื้อต่อไปควรผสมยาลงไปด้วยทุกครั้ง เพื่อบรรเท่าอาการอักเสบลงได้ อนึ่ง ลักษณะการงดให้อาหารเช่นนี้จะต้องกระทำทุกครั้งที่มีการลำเลียงเคลื่อยย้ายกบ ไม่ว่าจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หรือลูกกบก็ตาม ยาที่ผสมในอาหารให้กบกินนั้น ถ้ามีอาการไม่รุนแรงนักก็ใช้ออกซิเททราไซคลิน 1 ช้อนแกง ผสมลงในอาหาร 3 กก. เช่นกัน ทั้งนี้เพราะตัวยาแรงผิดกันและให้กบกินมื้อเดียวแล้วหยุดไปประมาณ 5-6 วัน(เฉพาะอาหารที่ผสมยา) เพื่อสังเกตดูอาการของกบว่าทุเลาลงแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่มีอาการดีขึ้นก็ให้อาหารผสมยาขนาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 1 เมื้อ

โรคและการป้องกันโรค
ปัญหาโรคที่เกิดขึ้นนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหัญหาที่สืบเนื่องมาจากความผิดพลาดทางด้านการเลี้ยงและการจัดการ ทำให้มีการหมักหมมของเสียต่างๆ เกิดขึ้นในบ่อ โดยเฉพาะการเลี้ยงกบในปัจจุยันมักจะใช้บ่อซีเมนต์ และเลี้ยงกันอย่างหนาแน่น มีการให้อาหารมาก ประกอบกับการขาดความเอาใจใส่และไม่เข้าใจในเรื่องความสะอาดของบ่อรวมถึงน้ำที่เลี้ยง โอกาสที่กบจะเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจึงมีมากขึ้น เท่าที่ได้รวบรวมข้อมูลทางด้านโรคต่างๆ ที่ตรวจพบจากกบนั้นพอจะแบ่งออกได้ดังนี้
1. โรคติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่ทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงกบมากที่สุด ทั้งในช่วงที่เป็นลูกอ๊อด และกบเต็มวัย ซึ่งในที่นี้จะแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
     1.1. โรคติดเชื้อแบคทีเรียในระยะลูกอ๊อด พบได้ตั้งแต่ระยะที่ไข่ฟักเป็นตัว จนกระทั่งพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย อาการที่สังเกตได้ คือ ลูกอ๊อดจะมีลำตัวด่าง คล้ายโรคตัวด่างในปลาดุก จากนั้นจะเริ่มพบอาการท้องบวมและตกเลือดตามครีบหรือระยางค์ต่างๆ
สาเหตุของการเกิดโรคมักจะมาจากการปล่อยลูกอ๊อดในอัตราหนาแน่นเกินไป มีการให้อาหารมกทำให้คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม โดยเฉพาะค่าพีเอชของน้ำจะต่ำลงมาก นอกจากนี้ลูกอ๊อดยังกัดกันเองทำให้เกิดเป็นแผลตามลำตัวเปิดโอกาสให้เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค คือ แบคทีเรียในกลุ่ม Flexibacteris เข้าทำอัตรายได้ง่ายขึ้น อาการของโรคทวีความรุนแรงถ้าคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงเสียมากขึ้น และเลี้ยงลูกอ๊อดหนาแน่นเกินไป ดังนั้นวิธีการป้องกัน คือ อนุบาลลูกอ๊อดในความหนาแน่นที่เหมาะสมตารางเมตรละ 1,000 ตัว และทำการคัดขนาดทุกๆ 2 -3 วันต่อครั้ง จนกระทั้งเป็นลูกกบแล้วอนุบาลให้ได้ขนาด 1 - 1.5 ซม. ในอัตราความหนาแน่นตารางเมตรละ 250 ตัว จากนั้นจึงปล่อยลูกกบลงเลี้ยงในอัตราตารางเมตรละ 100 ตัว ซึ่งเป็นความหนาแน่นที่เหมาะสมและลดปัญหาการเกิดโรค ทั้งนี้ต้องเปลี่ยถ่ายน้ำสม่ำเสมอ และรักษาความสะอาดของบ่ออนุบาลเมื่อพบกบเริ่มแสดงอาการตัวค่างควรใช้เกลือแกงแช่ในอัตรา 0.5% (5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร) นาน 3 - 5 วัน หรือในรายที่มีอาการมากอาจใช้ยาออกซิเททราไซคลินแช่ในอัตรา 1 - 20 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันทุกวันนาน 3 - 5 วัน และไม่ควรใช้ยาและเกลือแกงในเวลาเดียวกัน เพราะเกลือจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดต่ำลง
     1.2 โรคติดเชื้อแบคทีเรียในระยะเต็มวัย พบทั้งในกบขนาดเล็กและขนาดใหญ่ องค์ประกอบที่จะทำให้อาการของโรงรุนแรงมากหรือน้อย คือ สายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas และ Pseudomonas และระยะเวลาของการเป็นโรค อาการของโรคโดยทั่วไปที่พบได้แก่ การเกิด แผลที่มีลัษณะเป็นจุดแดงๆ ตามขาและผิวหนังตามตัวโดยเฉพาะด้านท้อง จนถึงแผลเน่าเปื่อยบริเวณปาก ลำตัวและขา เป็นต้น เมื่อเปิดช่องท้องเพื่อดูอวัยวะภายในจะพบว่ามีของเหลวในช่องท้อง ตับมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีจุดสีเหลืองซีดๆ กระจายอยู่ทั่วไป ไดตขยายใหญ่บางครั้งพบตุ่มสีขาวขุ่นกระจายอยู่ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค คือสภาพบ่อสกปรกมาก ดังนั้นจึงควรจัดการทำความสะอาดเปลี่ยถ่ายน้ำบ่อยๆ ควบคุมปริมาณอาหารให้พอเหมาะและอย่าปล่อยกบลงเลี้ยงหนาแน่นเกินไป เมื่อกบเป็นโรค ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซิเททราไซคลินผสมอาหารให้กบกินในอัตรา 3 - 5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัมต่อวัน กินติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือให้กินไม่น้อยกว่าครั้งละ 5 - 7 วัน
2. โรคที่เกิดจากโปรโตซัวในทางเดินอาหาร โดยทั่วไปจะพบในกบเล็กมากกว่ากบโต อาการทั่วไปจะพบว่ากบไม่ค่อยกินอาหารผอม ตัวซีด เมื่อตรวจดูในลำไส้จะพบโปรโตซัวในกลุ่ม Opalina sp. และ Balandium sp. อยู่เป็นจำนวนมาก การติดเชื้อโปรโตซัวในทางเดินอาหาร นี้ถ้าเป็นติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะทำให้กบตายได้ การรักษาควรจะใช้ยา Metronidazole ผสมอาหารให้กินในอัตรา 3 - 5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม กิน ติดต่อกันครั้งละ 3 วัน แล้วเว้นระยะ 3 - 4 วัน แล้วให้ยาซ้ำอีก 2 - 3 ครั้ง หรือจนกว่ากบจะมีอาการดีขึ้นและกินอาหารตามปกติ
3. โรคท้องบวม โดยทั่วไปจะเกิดกับลูกอ๊อดในฟาร์มที่ใช้น้ำบาดาล การเปลี่ยนน้ำอย่างรวดเร็วโดยใช้น้ำบาดาลที่ไม่ได้พักไว้ก่อน จะทำให้ความดันก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำลดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน มีผลให้ร่างกายของลูกอ๊อดต้องปรับความดันก๊าซในตัวเองลงมาให้เท่ากับความดันของก๊าซในน้ำ ทำให้เกิดฟองก๊าซขึ้นในช่องว่างของลำตัว ท้องลูกอ๊อดจึงบวมขึ้นมา การแก้ไขจะกระทำได้ยากมาก จึงควรป้องกันโดยระมัดระวังเรื่องการถ่ายน้ำอย่าเปลี่ยนน้ำปริมาณมากๆ ในเวลาสั้นๆ และควรมีการพักน้ำและเติมอากาศให้ดีก่อนนำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบาดาล

การป้องกันโรค
การเลี้ยงกบที่จะลดอัตราการแพร่ของเชื้อโรคนั้น ความสำคัญอยู่ที่ลักษณะของบ่อเลี้ยงที่จะต้องสะอาด มีแสงแดดส่องลงถึงพื้นได้ ถึงแม้จะมีการพรางแสงไว้มุมหนึ่งก็ตาม น้ำในบ่อเลี้ยงต้องสามารถถ่ายเทได้ ดังนั้น ในการเลี้ยงกบบางแห่ง จึงทำท่อน้ำที่รักษาระดับน้ำไว้ได้ โดยปล่อยน้ำเข้าทางหนึ่งและน้ำล้นออกอีกทางหนึ่ง ทำให้น้ำในบ่อสะอาดอยู่เสมอ หรือบ่อปูนซีเมนต์ที่มีน้ำสูงเพียง 1 ฟุต ภายใต้น้ำเลี้ยงปลาดุกในอัตราส่วน 100 : 20หรือกบ 1,000 ตัว ปล่อยปลาดุก 200 ตัว ปลาดุกจะช่วยทำความสะอาดโดยเก็บกินเศษอาหารและมูลกบ ทำให้น้ำในบ่อสะอาดโดยเก็บกินเศษอาหารและมูลกบ ทำให้น้ำในบ่อสะอาดอยู่ได้นานเมื่อเปรียบเทียบกับบ่อที่ไม่มีการเลี้ยงปลาดุกถึงอย่างไรก็ตามไม่ควรเลี้ยงกบหนาแน่นเกินไป และถ้าพบกบตัวใดมีอาการผิดปกติควรจับแยกออกเลี้ยงต่างหาก

ต้นทุนการเลี้ยงกบนา
ปัจจุบันการเลี้ยงกบนาก็ยังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปเนื่องจากกบนาเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้น้ำน้อย และใช้พื้นที่การเลี้ยงไม่มาก สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ขนาดเล็กประมาณ 6 - 12 ตารางเมตร ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ขนาดเล็กประมาณ 6 - 12 ตารางเมตรซึ่งสามารถเลี้งกบได้ประมาณ 400 - 800 ตัว/บ่อ ใช้เวลาในการเลี้ยง 3 - 4 เดือน ใช้อาหารสำเร็จรูปจะได้กบที่มีขนาดประมาณ 200 - 250 กรัม /ตัว ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถจับขายได้ต้นทุนปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 บาทต่อกิโลกรัม

แนวโน้มการเลี้ยงกบในอนาคต
กบเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งตลาดนิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สเปน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ สำหรับผู้เลี้ยงกบหากหลีกเลี่ยงช่วงที่มีการจับกบในแหล่งน้ำธรรมชาติก็จะช่วยลดปัญหาด้านราคาตกต่ำหรือมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปก็จะส่งผลให้การเพาะเลี้ยงกบมีแนวโน้มสดใสยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกด้วยแต่อย่างไรก็ตามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัวตามธรรมชาติของกบลดลง ดังนั้นแนวโน้มการเลี้ยงกบในอนาคต จึงนับได้ว่ามีลู่ทางแจ่มใส ไม่มีปัญหาด้านการจำหน่าย และราคาก็ดีมีผลคุ้มค่าต่อการลงทุน ลงแรง สามารถส่งเป็นสินค้าออกช่วยการขาดดุลให้แก่ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา : เอกสารเผยแพร่ เรื่อง การเพาะเลี้ยงกบ กรมประมง 2548

No comments:

Post a Comment