การปลูกเพกา
การปลูกเพกา/ลิ้นฟ้า
เพกาหรือลิ้นฟ้า พืชที่นิยมนำฝักอ่อน ยอดอ่อน และดอกมารับประทานคู่กับน้ำพริก และอาหารในเมนูซุปหน่อไม้ และลาบต่างๆ เนื่องจากให้ความกรอบ นุ่ม และมีรสขมเล็กน้อย ทำให้เพิ่มรสชาติของอาหาร ช่วยกลบรสอาหารส่วนเกิน และให้คุณค่าทางสมุนไพรในการบรรเทา และรักษาโรคต่างๆได้ดี
การใช้เมล็ด
เพกาเป็นไม้เนื้ออ่อน หากใช้วิธีขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมักไม่ค่อยได้ผล แต่ที่นิยมมาก และได้ผลดีที่สุด คือ การเพาะเมล็ด โดยเลือกเมล็ดจากฝักแก่ เปลือกฝักแห้ง มีสีดำ โดยให้เก็บฝักไว้สัก 2-3 เดือน ก่อนนำมาเพาะเมล็ด เพราะหลังจากฝักแก่ เมล็ดเพกาจะเข้าสู่ระยะพักตัวอยู่ช่วงหนึ่ง หากนำเมล็ดมาเพาะในระยะหลังฝักแก่มักมีอัตราการงอกต่ำ ดังนั้น จึงทิ้งฝักไว้สักระยะหนึ่งก่อน
การเพาะเมล็ด ควรเพาะในถุงเพาะชำ เพื่อให้ย้ายต้นลงปลูกในแปลงได้สะดวก โดยนำเมล็ดออกจากฝัก และตากแดดสัก 2-3 วันก่อน หลังจากนั้นค่อยนำมาเพาะ
การเตรียมวัสดุเพาะ และการเพาะเมล็ด
สำหรับวัสดุเพาะ ควรใช้ดินผสมกับวัสดุอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และแกลบดำ แต่หากไม่สะดวกให้ใช้เพียงปุ๋ยคอกอย่างเดียวก็ได้ โดยใช้อัตราส่วนดิน:ปุ๋ยคอก:แกลบดำ ที่ 1:3:1 ก่อนบรรจุลงถุงเพาะชำ หลังจากนั้น นำเมล็ดลงกลบ และรดน้ำให้ชุ่ม พร้อมกับดูแลด้วยการรดน้ำเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง จนกว่าต้นจะงอก และแตกใบได้ 2 ข้อ ก่อนย้ายลงปลูกในแปลง
วิธีปลูกเพกา
การปลูกเพกานิยมปลูกในต้นฤดูฝน เมื่อต้นกล้าแตกยอดได้ 2 ข้อแล้ว ให้นำกล้าเพกาลงปลูกได้ สำหรับระยะปลูกให้มีระยะห่างที่ 4×4 เมตร โดยการขุดหลุมขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ก่อนจะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 3-5 กำ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 หยิบมือ พร้อมคลุกหน้าดินผสม ก่อนจะนำกล้าเพกาลงปลูก
การดูแลเพกา
หลังจากปลูกแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่จะปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ หากต้นตั้งตัวได้ก็จะเติบโตจนผ่านฤดูฝนไป และอยู่รอดได้ในช่วงหน้าแล้ง แต่บางพื้นที่ที่มีการปลูกจำนวนหลายต้นหรือปลูกเพื่อจำหน่าย เกษตรกรจะมีการถางกำจัดวัชพืช ควบคู่กับการใส่ปุ๋ยคอกบริเวณโคนต้น และเพิ่มปุ๋ยเคมีในช่วงก่อนแทงช่อดอก
ประโยชน์เพกา/ลิ้นฟ้า
1. ฝักอ่อน อายุฝักประมาณ 1 เดือน จัดเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทานด้วยการลวกหรือย่างไฟ คู่กับน้ำพริก เมนูลาบต่างๆ และซุปหน่อไม้ ฝักอ่อนนี้ เมื่อรับประทานจะมีรสขม เนื้อฝักกรอบ ปัจจุบัน มีจำหน่ายทั้งฝักอ่อนดิบตามตลาดสด ราคาฝักละ 15-25 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดฝัก และฝักอ่อนลวกสำเร็จที่ตัดแบ่งครึ่งหรือหั่นเป็นชิ้น ครึ่งฝักละ 5-10 บาท ที่ขายคู่กับน้ำพริก ทั้งนี้ การย่างไฟ นิยมย่างไฟจากเตาถ่าน แต่อาจย่างจากไฟลุกไหม้ก็ได้ โดยย่างให้เปลือกฝักอ่อนร้อน และอ่อนตัวจนไหม้เกรียมเป็นสะเก็ดดำ จากนั้นค่อยขูดสะเก็ดดำออก ก่อนนำมาหั่นรับประทาน
2. ใบ และยอดอ่อน ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานดิบหรือลวกหรือย่างไฟ คู่กับน้ำพริก ซุปหน่อไม้ และเมนูลาบต่างๆเช่นกัน เมื่อรับประทานจะให้รสขม และกรอบเช่นกับเหมือนกับฝักอ่อน ทั้งนี้ ใบอ่อน และยอดอ่อน มักไม่นิยมเด็ดมารับประทานมากนัก เพราะจำเป็นให้ยอดเติบโต และติดดอก แต่มักเด็ดเพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
3. ดอกบาน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมรับประทานไม่แพ้ฝักอ่อน และยอดอ่อน ซึ่งจะใช้เฉพาะดอกบานที่ร่วงจากต้นแล้ว ไม่ใช่ดอกที่ติดบนช่อดอก ทั้งนี้ ดอกบานดังกล่าวนิยมนำมาลวกเท่านั้น สำหรับรับประทานคู่กับอาหารที่กล่าวข้างต้น เนื้อดอกเมื่อลวกแล้วจะมีความนุ่ม และให้รสขมน้อยกว่าฝักอ่อน และยอดอ่อน ถือได้ว่าเป็นส่วนที่อร่อยมากที่สุด
4. แก่นไม้เพกา เป็นไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในบางพื้นของภาคอีสาน นิยมใช้เผาถ่านสำหรับทำผงถ่านผสมทำดินปืนหรือดินบั้งไฟ ทั้งนี้ สามารถเผาเป็นถ่านได้ทั้งในรูปไม้สด เพราะเนื้อไม้สดค่อนข้างแห้งอยู่แล้ว และเผาในรูปท่อนไม้แห้ง ซึ่งเผาได้ง่ายกว่า แต่ปัจจุบัน ไม่ค่อยนิยมแล้ว เนื่องจาก ต้นเพกาในอีสานหายากขึ้น และหันมาใช้ไม้ยูคาลิปตัสที่หาได้ง่ายกว่า
5. ฝักอ่อนเพกา บางพื้นที่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศเพื่อรับประทาน ส่วนฝักเพกาแก่ นิยมนำมาตากแห้ง และส่งออกต่างประเทศเพื่อใช้ทำยาสมุนไพร สามารถทำรายได้งามให้แก่เกษตรกรได้ ซึ่งพบในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ จังหวัดสุโขทัย
นอกจากนี้ การใช้ทุกส่วนสำหรับรับประทานคู่กับเมนูอาหารต่างๆ นอกจากจะช่วยเพิ่มรสขมแล้ว ยังช่วยกลบรสส่วนเกิน ทั้งในรสเค็ม รสเปรี้ยว และรสหวานได้อีกด้วย
No comments:
Post a Comment