การปลูกลองกอง
การปลูกลองกอง
ลองกอง (longkong)
เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของไทย นิยมปลูกเพื่อรับประทานเป็นผลไม้เป็นหลัก รวมถึงการแปรรูปอื่นบ้าง อาทิ ไวน์ลองกอง แยมลองกอง เป็นต้น
วิธีการปลูกลองกอง
การปลูกลองกองควรจะได้มีการเตรียมพื้นที่ วางระบบน้ำและปลูกพืชให้ร่มเงาไว้ล่วงหน้าก่อนลงมือปลูกลองกอง โดยถ้ามีการวางระบบน้ำไว้ก่อนสามารถให้น้ำได้ทันที ควรปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน เพื่อจะได้มีเวลาตั้งตัวแล้วเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน
การปรับพื้นที่
ให้ไถ ขุดตอ และรากไม้เก่าออกให้หมด ไถปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบอยู่แล้วควรไถกำจัดวัชพืชเพียงอย่างเดียว แล้วตากดินทิ้งไว้ 10-15 วัน
ระยะปลูก
ถ้าปลูกลองกองแซมในพืชอื่นระยะปลูกที่ใช้จะขึ้นกับพืชประธาน แต่ถ้าทำสวนลองกองเพียงอย่างเดียว โดยปลูกพืชให้ร่มเงา เช่น กล้วย ยอป่า ทองหลาง แคฝรั่ง เป็นต้น สามารถเลือกระยะปลูกได้ตั้งแต่ 6-8 เมตร เนื่องจากลองกองเป็นไม้ผลที่ให้ผลตามลำต้นและกิ่งใหญ่ สามารถใช้ระยะปลูกที่แคบลงได้ แต่ต้องมีการตัดแต่งกิ่งที่ดี สำหรับการทำสวนขนาดใหญ่ก็ควรจะใช้ระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้น เพื่อสะดวกในการนำเครื่องทุ่นแรงเข้าไปใช้ในสวน ดังนั้น ระยะปลูกที่แนะนำ คือ ระยะระหว่างต้น 4-6 เมตร ระยะระหว่างแถว 6-8 เมตร
การวางระบบน้ำ
ไม้ผลทุกชนิดต้องการน้ำในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม เพื่อการเจริญเติบโตและออกดอกติดผลที่ดี การปลูกลองกองเป็นสวนเพื่อการค้าจึงจำเป็นต้องมีการวางระบบน้ำ ซึ่งแนะนำให้ใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ และจำเป็นต้องมีการออกแบบที่ถูกต้อง และใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพเพื่อให้ควบคุมปริมาณน้ำได้สม่ำเสมอ และเพื่อจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าไฟฟ้า รวมทั้งเพื่อให้มีอายุใช้งานยาวนาน
การเตรียมต้นกล้า
ต้นกล้าที่นำปลูกลงแปลงควรมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อยู่ในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ และจะต้องมีใบยอดคู่สุดท้ายแก่เต็มที่แล้ว ไม่ควรนำต้นที่กำลังแตกใบอ่อนไปปลูก และก่อนปลูกควรเตรียมต้นกล้าให้พร้อมกับสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก โดยค่อย ๆ งดน้ำและปุ๋ย พร้อมกับค่อย ๆ เพิ่มแสงให้มากขึ้นทีละน้อย
การเตรียมหลุมปลูก
ขึ้นกับสภาพของดิน และการวางระบบน้ำ
กรณีที่ดินมีความสมบูรณ์ดี และมีการวางระบบน้ำ การเตรียมหลุมอาจไม่จำเป็น โดยหลังจากที่ปรับสภาพพื้นที่ วางแนวกำหนดระยะปลูก และวางระบบน้ำเสร็จแล้ว ให้ทำดังนี้
- โรยปุ๋ยหิมฟอสเฟต 500 กรัม หรือ ประมาณ 1.5 กระป๋องนมข้น ตรงตำแหน่งที่ต้องการปลูกและพรวนคลุกเคล้ากับหน้าดินให้เข้ากัน
- นำต้นกล้าออกจากถุงพลาสติก โดยระวังอย่าให้ดินแตกทำได้โดยกรีดก้นถุงออกก่อนแล้วนำไปวางตรงตำแหน่งที่ปลูก กรีดถุงพลาสติกให้ขาดจากล่างขึ้นบนแล้วค่อย ๆ ดึงถุงพลาสติกออกเบา ๆ
- ถากดินข้าง ๆ ขึ้นมาพูนกลบ ระวังอย่ากลบให้สูงถึงรอยเสียบยอด รอยทาบ หรือรอยติดตา
-หาวัสดุคลุมโคน รดน้ำให้ชุ้ม ปักไม้หลักป้องกันลมพัดโยก และจัดทำร่มเงาโดยใช้ ตาข่ายพลาสติกพรางแสง ทางมะพร้าว หรือทางปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
กรณีที่ดินไม่ค่อยจะสมบูรณ์ แนะนำให้ขุดหลุมปลูก ดังนี้
- ขุดหลุมมีขนาด กว้างยาวและลึก ด้านละประมาณ 50 ซม.
- ใช้ปุ๋ยคอกเก่า 5 กก. หรือประมาณ 1 ปีบ และฟุ๋ยหินฟอสเฟต 500 กรัม หรือประมาณ 1.5 กระป๋องนมข้น คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมาแล้วกลบกลับคืนไปในหลุมสูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
- นำถุงต้นกล้ามากรีดกันถุงออกก ถ้าพบว่ามีรากขดงออยู่กันถุงให้ตัดออกแล้ววางตรงกลางหลุม จัดให้ตรงแนวกับด้านอื่น ๆ พร้อมทั้งปรับระดับสูงต่ำของต้นลองกองให้รอยต่อระหว่างรากและลำต้น หรือระดับดินปากถุงเดิมสูงกว่าระดับดินของปากหลุมเล็กน้อย ใช้มีดกรีดด้านข้างของถุงจากก้นถุงขึ้นมาจนถึงปากถุง ค่อย ๆ ดึงถุงพลาสติกออกอย่างระมัดระวัง อย่างให้ดินในถุงแตก
-กลบดินที่เหลืออยู่ให้เต็มปากหลุม กดให้แน่นพอสมควร และให้พูนดินบริเวณโคนต้นให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขัง
- หาวัสดุคลุมโคน รดน้ำให้ชุ่ม ปักไม้หลังป้องกันลมพัดโยก และจัดทำร่วมเงาโดยใช้ตาข่ายพลาสติกกพรางแสง ทางมะพร้าว หรือทางปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
การออกดอก และการเก็บเกี่ยว
ลองกองจะมีการออกดอกและการติดผลบริเวณลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ มักจะเกิดกับจุดใกล้เคียงกันเป็นกระจุก จะเกิดเป็นช่อได้ประมาณ4-10 ช่อแต่เมื่อเจริญไปเป็นดอกและติดผลแล้ว จะเหลือช่อโดยเฉลี่ยลดน้อยลง การออกดอกจะทยอยกันออกเป็นรุ่นๆ ลองกองใช้เวลาในการออกดอกที่ยาวนานประมาณ 1-2เดือนจึงจะหมดทั้งต้น และการเจริญเติบโตของผลหลังจากดอกบานถึงระยะเก็บผลจะใช้เวลาประมาณ100-110 วัน
การออกดอกของลองกองในแต่ละแหล่งปลูกจะไม่พร้อมกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง การออกดอกตามฤดูปกติอยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม เก็บผลแก่ได้ในเดือนกันยายน ระยะหลังจากการเก็บเกี่ยวลองกองไปแล้วตามฤดูกาลปกติ คือประมาณเดือนกันยายนก็จะเริ่มบำรุงต้นให้ปุ๋ยทันที
แต่ไม่มีการให้น้ำ ฝนจะไม่ตกและจะทิ้งช่วงไปถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม พอปลายเดือนตุลาคมต้นลองกองที่ได้ทำการใส่ปุ๋ยไว้ก็จะเริ่มออกดอก ในช่วงนี้ก็จะเริ่มให้น้ำตามปกติและฝนมักจะตกชุกขึ้น ส่วนดอกที่ออกในช่วงนี้จะไปแก่เก็บผลได้ในเดือนเมษายนส่วนต้นที่บังคับให้มีการออกดอก
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะทำการถากหญ้าและใส่ปุ๋ยก่อนเดือนกุมภาพันธ์เพื่อให้ต้น
มีความสมบูรณ์พร้อมจะให้ออกดอกต่อไป
การเก็บเกี่ยว
เริ่มจากการที่ ช่อดอกลองกองจะทยอยแทงออกมา เมื่อมีการออกช่อดอกติดผลจึงทำให้อายุของผลไม่เท่ากันทำให้การเก็บเกี่ยวผลมีหลายรุ่น และที่สำคัญจำนวนดอกในแต่ละช่อบานไม่พร้อมกัน จึงทำให้ผลในแต่ละช่อสุกไม่พร้อมกันความหวานจึงไม่สม่ำเสมอ การตัดช่อลองกองแล้วจะปลิดผลสีเขียวทิ้ง คงไว้เฉพาะผลที่เปลือกเป็นสีเหลือง จึงทำให้ผลในช่อไม่แน่นขาดความสวยงามและได้ราคาต่ำ
ในการเร่งการเปลี่ยนสีเปลือกผลลองกองควรใช้สาร Ethephon ที่มีความเข้มข้น200มิลลิกรัม/ลิตร พ่นช่อผลในระยะที่มีการเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองประมาณ10-20 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผลทุกผลภายในเกิดการเปลี่ยนช่อเป็นสีเหลืองพร้อมกัน100เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา14วันแต่ถ้าหากไม่พ่นด้วยสารดังกล่าว การเปลี่ยนสีของผิวเปลือกผลจะมีเพียง25เปอร์เซ็นต์สารดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการร่วงของผลแต่อย่างใด
1.ระยะการสุก แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่1เปลือกผลมีสีเหลืองแกมเขียวเนื้อในขาวขุ่น ระยะนี้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้
ระยะที่2เปลือกผลมีสีเหลืองคล้ำเนื้อในผลบริเวณขั้วของกลีบยังลงมีสีขาวขุ่นตรงกลางกลีบเหมือนแก้วระยะนี้เก็บเกี่ยวได้ระยะที่3เปลือกผลสีเหลืองคล้ำเนื้อในผลใสเหมือนแก้วทุกกลีบ เก็บเกี่ยวในระยะนี้ถ้าให้ดีบ่มไว้1คืนผลจะหวานหอมเพราะเป็นระยะที่สุกเต็มที่
2.วิธีเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวลองกอง จะใช้ไม้หรือบันไดทำการพาดขึ้นไปและใช้มีดเล็กๆคมๆตัดที่โคนก้านช่ออย่าให้กระทบกระเทือนเพราะผลจะร่วง เมื่อตัดมาแล้วควรแยกขนาดของช่อ แล้วจึงนำออกจำหน่าย
3. การเก็บรักษาผลลองกอง การเก็บผลไม้จำพวกลองกองไว้ภายในห้องเย็นที่มีการควบคุมอุณหภูมิได้ จะพบว่าผลไม้ที่มีขนาดเล็กจะมีความเป็นกรดเท่ากับผลขนาดใหญ่ เมื่อทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเท่าๆกันอัตราการหายใจของผลไม้ที่มีขนาดเล็กจะมีอัตราสูงกว่าพวกที่มีขนาดใหญ่ทั้งในผลสุกและยังไม่สุก การเก็บรักษาให้ผลอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทำได้โดยการเก็บที่อุณหภูมิ15องศาเซลเซียส
โรค และศัตรูพืช
ศัตรูพืชที่มีบทบาทสำคัญและทำความเสียหายให้กับลองกองได้แก่
หนอนเจาะลำต้น
มันจะทำการเจาะเข้าไปในกิ่งหรือลำต้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและกัดกิน ตอนกลางคืนมักจะออกมาจากรูมาแทะกินเปลือก กิ่ง ลำต้น ส่วนตอนกลางวันมักจะหลบซ่อนอยู่ในรูในกิ่งที่ถูกทำลายมากๆอาจทำให้แห้งและตายไปในที่สุด จะป้องกันโดยการใช้ยาชนิดระเหย ผสมฉีดเข้าไปในรูที่หนอนอาศัยอยู่แล้วอุดด้วยดินเหนียว
หนอนชอนใบ การทำลายของตัวหนอนจะไชชอนกัดกินอยู่ใต้ใบ จะทำลายเฉพาะหน้าใบเท่านั้น ระยะต่อมาบริเวณใบที่ถูกกัดกินก็จะเริ่มแห้งและร่วงหล่นไปในที่สุด การป้องกัน หากพบมีรอยทำลายของหนอน ก็เก็บใบไปทำลายเสียก่อน และใช้สารเคมีฉีดพ่นในช่วงแตกใบอ่อน
หนอนไชเปลือก
การทำลายของหนอนไชเปลือก ก็จะเข้ากัดกินอยู่ใต้ผิวเปลือก ทำให้เปลือกมีลักษณะเป็นปุ่มๆและเมื่อกินนานเข้าจะทำให้กิ่งแห้งตายทำความเสียหายเป็นอย่างมาก การป้องกันและกำจัด ฉีดด้วยสารเคมี
โรครากเน่า เกิดจากเชื้อรา จะเกิดบริเวณโคนต้นและโคนรากในต้นที่เป็นโรคจะพบว่าใบร่วงใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองโคนเน่ารอบโคน แล้วต้นก็จะตาย การป้องกันควรใช้สารเคมีป้องกันการกำจัดเชื้อราในกลุ่มของคอปเปอร์ออกซิคลอไรด์
การตลาด
การตลาด ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่ผลผลิตลองกองออกสู่ตลาดตามฤดูกาล การผลิตและการตลาดของเกษตรกรนั้น ยังขาดความรู้ เกี่ยวกับการปลูก การขยายพันธุ์ การดูแลรักษาซึ่งมีผลกระทบต่อระยะเวลาการให้ผลผลิต นอกจากนี้เกษตรกรไม่มีตลาดรองรับผลผลิตในจังหวัดเพียงพอ ทำให้ต้องจำหน่ายผลผลิตก่อนระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกครั้ง
1.โครงสร้างการตลาดและสภาพทั่วไปของตลาดลองกอง ลองกองเป็นผลไม้เพาะฤดูกาล ผลผลิตแต่ละปีมีมากน้อยตามสภาพของอากาศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคผลผลิตจากแหล่งต่างๆจะถูกส่งมายังตลาดตันหยงมัสแห่งนี้ ผลผลิตที่รวบรวมจากแหล่งนี้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังปากคลองตลาด เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคต่อไป
2.วิถีการตลาดลองกอง ตลาดลองกองของจังหวัดนราธิวาส จากแหล่งผลิตหรือสวนลองกองของเกษตรกรจะผ่านผู้ประกอบการระดับต่างๆจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งพ่อค้าในระดับต่างๆคือ พ่อค้าปลีก พ่อค้าท้องถิ่น ตัวแทน/นายหน้า พ่อค้าขายส่งตลาดตันหยงมัส และพ่อค้าต่างจังหวัด
3.รูปแบบการซื้อขาย จำแนกได้3ลักษณะ คือ
1.การเหมาสวนหรือเหมาต้นก่อนการเก็บเกี่ยว1-1 1/2เดือน
2.การเหมาสวนหรือเหมาต้นก่อนการเก็บเกี่ยว10-15 วัน
3.การซื้อขายเป็นน้ำหนัก
4.การจัดชั้นคุณภาพผลผลิตลองกอง ใช้ความสามารถเฉพาะตัวของผู้ประกอบการค้า โดยใช้ประสบการณ์ในการซื้อขายกันมาเป็นระยะเวลายาวนานเพราะไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนเป็นเครื่องวัด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันอยู่เสมอในการตกลงซื้อขายลองกอง ในขณะที่ผู้ขายพยายามต่อรองที่จะ
ให้ผลผลิตได้ราคาสูง แต่ผู้ซื้อก็ต้องการซื้อในราคาต่ำ
5. การบรรจุหีบห่อ การที่ภาชนะบรรจุระหว่างผู้ประกอบการท้องถิ่น พ่อค้าขายส่งต่างจังหวัดพ่อค้าขายส่งตลาดตันหยงมัส เข่งที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุ หากมีการซื้อขายเป็นจำนวนมาก จะมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุระหว่างกัน หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก อาจจะมารับภาชนะบรรจุกลับในวันหลัง แต่ในกรณีของภาชนะบรรจุในการประกอบการค้าขายส่งตลาดตันหยงมัสกับพ่อค้าตลากกรุงเทพฯ ภาชนะที่ใช้บรรจุ คือ ลังไม้และกล่องกระดาษ เป็นต้น
6.การเก็บรักษาสินค้า การเก็บรักษาสินค้าเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเก็บรักษาไม่ดีโอกาสที่ลองกองจะเน่าเสียจะประมาณ5-7วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการค้านั้นจะต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลเก็บรักษาให้ดี
7.การขนส่ง การขนส่งของผู้ประกอบการค้าพ่อค้าท้องถิ่น พ่อค้าขายส่งต่างจังหวัด และนายหน้านั้น จะใช้รถบรรทุก 4ล้อ ส่วนการติดต่อการค้าระหว่างผู้ประกอบการค้าพ่อค้าขายส่งตลาดตันหยงมัสกับพ่อค้าปากคลองตลาดนั้น พาหนะที่ใช้บรรทุกคือ รถบรรทุกขนาด 6ล้อ และ10ล้อ ส่วนใหญ่จะเป็นหลังเที่ยงคืนไปแล้ว
8.ปัญหาการตลาด ราคาลองกองโดยทั่วๆไป แล้วนั้นค่อนข้างจะราคาสูง ดังนั้นตลาดในการจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่จึงเป็นตลาดที่เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ เพราะมีอำนาจในการซื้อสูง
เช่นตลาดในกรุงเทพฯ หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ซึ่งจากการที่ตลาดอยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตมากนั้น จึงทำให้ประสบปัญหา
แนวทางการแก้ไขนั้นจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในเรื่องของการตลาด และคุณภาพของสินค้าที่ตลาดต้องการ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบพ่อค้าเมื่อมีการต่อรองราคาสินค้า
ประโยชน์ลองกอง
1. ผลลองกองสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่มีเนื้อฉ่ำน้ำ และให้รสหวาน
2. เนื้อผลลองกองนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผลไม้ อาทิ ไวน์ลองกอง น้ำลองกอง หรือแยมจากลองกอง เป็นต้น
3. เนื้อผลลองกองนำสกัดสารที่ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางประเภทลดการอักเสบของสิว ลดรอยด่างดำ และรอยกะฟ้าบนใบหน้า
4. เปลือกลองกองนำมารวมกันใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
5. เมล็ดลองกองนำมาบดแช่น้ำหรือต้มน้ำ ใช้สำหรับฉีดพ่นพืชผัก ช่วยป้องกันโรครา และแมลงกัดกินใบ
6. เมล็ดลองกองใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
คุณค่าทางโภชนาการผลลองกอง (เนื้อผล 100 กรัม)
– พลังงาน 57 แคลอรี่
– โปรตีน 0.90 มิลลิกรัม
– ไขมัน 0.20 มิลลิกรัม
– คาร์โบไฮเดรต 15.2 มิลลิกรัม
– แคลเซียม 19.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 25.0 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม 27.5 มิลลิกรัม
– เหล็ก 1.10 มิลลิกรัม
– วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มิลลิกรัม
– วิตามินบีสอง 0.04 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 3.0 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน 1.0 มิลลิกรัม
สรรพคุณลองกอง
เนื้อผลลองกอง
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
– ช่วยย่อยอาหาร และกระตุ้นให้เจริญอาหาร
เปลือกลองกอง
– ช่วยรักษาแผล ลดน้ำหนองหรือน้ำเหลืองไหล
– ต้านเชื้อรา ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
– แก้อาการท้องเสีย
– รักษาโรคบิด
เมล็ดลองกอง
– ช่วยขับพยาธิ
– ต้านการติดเชื้อ และการอักเสบของแผล
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร
http://52010812110g10.blogspot.com/2012/09/blog-post_1796.html
http://puechkaset.com/ลองกอง/
No comments:
Post a Comment