การเลี้ยงแพะ ขายได้ทุกส่วน ใช้พื้นที่น้อย
การเลี้ยงแพะ
แพะ (Goat) เป็นสัตว์ให้เนื้อ และให้นมที่นิยมเลี้ยงชนิดหนึ่ง เนื่องจากนมแพะที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ใกล้เคียงหรือสูงกว่านมโค กระบือ และมนุษย์ มีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ โมเลกุลไขมันมีขนาดเล็ก ทำให้ง่ายต่อการย่อย และการดูดซึมง่ายในระบบทางเดินอาหารสามารถนำใช้บริโภคแทนนมมนุษย์ได้ดีกว่านมโคและนมกระบือ นอกจากนี้ แพะเป็นสัตว์ให้เนื้อเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ย่อยได้ในระดับสูงกว่าเนื้อโค สุกร และไก่ และมีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมถึงขน และหนังแพะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ใช้ทำกระเป๋า เสื่อ พรม และเชือก ส่วนมูลแพะใช้ทำเป็นปุ๋ย เขา และกีบนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เลือด และกระดูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์
แหล่งเลี้ยงแพะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอยู่ในภาคใต้ และเป็นแหล่งบริโภคแพะแหล่งใหญ่ของประเทศ เนื่องจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามนิยมบริโภคแพะ โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญทางศาสนาที่ต้องใช้ประกอบพิธีกรรม รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
แพะ เป็นสัตว์เลี้ยงที่น่าส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น เพราะแพะมีเลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้เร็ว และมีข้อดีอื่นๆ อีกมาก เช่น
1. แพะเป็นผลผลิตทั้งเนื้อและนม มีขนาดเล็ก ทำให้ผู้หญิงหรือเด็กสามารถให้การดูแลได้
2. แพะเป็นสัตว์ที่หาอาหารกินเองได้เก่ง กินอาหารได้หลายชนิด ดังนั้นถึงแม้ฤดูแล้ง แพะก็สามารถหาวัชพืชที่โค-กระบือกิน กินเป็นอาหาร
3. แพะมีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวได้เร็ว สามารถผสมพันธุ์แพะได้ตั้งแต่อายุเพียง 8 เดือน
4. แพะมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง แม่แพะมักคลอดลูกแฝด และใช้ระยะเวลาเลี้ยงลูกสั้น จึงทำให้ตั้งท้องได้ใหม่
5. แพะเป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงเพียงเล็กน้อย ทั้งพื้นที่โรงเรือนและพื้นที่สำหรับเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์สำหรับแพะ
6. แพะเป็นสัตว์ที่สามารถปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ความทนต่อสภาพอากาศแล้ง และร้อนได้ดี
7. แพะเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารบริโภคสำหรับประชาชนของทุกศาสนาเพราะไม่มีศาสนาใดห้ามบริโภคเนื้อแพะ
การเลี้ยงแพะขายได้ทั้งเนื้อ นม หนัง และขน แต่การเลี้ยงแพะในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลบางอย่างทำให้ผลผลิตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ มาแบ่งปัน
การเลี้ยงแพะ สำหรับมือใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด
แพะ สัตว์ที่หลายคนคิดว่ากลิ่นเหม็นสาบ สกปรก ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยง ใครจะคิดบ้างว่า แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใช้เลี้ยงทดแทนโค – กระบือ และยังมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากอีกด้วย ข้อดี-ข้อเสียของการเลี้ยงแพะมีดังนี้
- เลี้ยงแพะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเลี้ยงวัว
- แพะหากินเก่ง และกินใบไม้ได้หลายชนิด
- แพะทนทานต่อทุกสภาพอากาศ
- แพะมีขนาดตัวเล็ก ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย
- แพะให้ผลผลิตได้ทั้งเนื้อ นม หนังและขน
สายพันธุ์แพะ
สำหรับพันธุ์ของแพะที่นิยมนำมาเลี้ยงมีหลายประเภท แต่สายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถเลี้ยงได้ในประเทศไทย มี 7 พันธุ์ดังนี้
1.แพะพันธุ์พื้นเมือง แพะพันธุ์พื้นเมืองในภาคใต้ มีสีหลากหลาย ส่วนใหญ่พบว่ามีสีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลสลับดำ แพะโตเต็มที่เพศเมียนมีความสูงตรงปุ่มหน้าขาประมาณ 48.5 ซม. มีน้ำหนักตัวประมาณ 12.8 – 16.4 กก. แพะพันธุ์พื้นเมืองไทยมีลักษณะคล้ายกับแพะพันธุ์กัตจัง (Kambing Katjang) พันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย
2.แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน (Anglonubian) เป็นแพะที่ให้ทั้งเนื้อและนม มีหลายสี ทั้งสีเดียวในตัวและสีด่างปัน สันจมูกเป็นเส้นโค้ง ใบหูยาวปรกลง นำเข้ามาเลี้ยงและขยายพันธุ์ในไทยกว่า 20 ปี
3.แพะพันธุ์บอร์ (Boer) เป็นแพะพันธุ์เนื้อขนาดใหญ่ จากประเทศแอฟริกาใต้ มีลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง ใบหูยาวปรก นำเข้ามาเมื่อปลายปี 2539
4.แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen) เป็นแพะพันธุ์นม สีขาวทั้งตัว หูใบเล็กตั้ง หน้าตรง
5.แพะพันธุ์หลาวซาน (Laoshan) เป็นแพะพันธุ์นม จากประเทศจีน มีลักษณะคล้ายพันธุ์ซาเนน
6.แพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine) เป็นแพะพันธุ์นม สีน้ำตาลหรือดำ ใบหูเล็กตั้ง หน้าตรง มีแถบสีข้างแก้ม
7.แพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก (Toggenburg) เป็นแพะพันธุ์นม ลำตัวสีช็อกโกแบต ใบหูตั้ง หน้าตรง มีแถบสีขาวข้างแก้ม
การเลี้ยงแพะและสถานที่เลี้ยงแพะ
การเลี้ยงแบบผูกล่าม เพื่อให้แพะหาหญ้ากินรอบบริเวณที่ผูก โดยผู้เลี้ยงต้องมีน้ำ และแร่ธาตุให้แพะกินเวลากลางคืน
การเลี้ยงแบบปล่อย เป็นการเลี้ยงที่ประหยัดงบประมาณ เพราะเป็นการปล่อยให้แพะออกหากินเองประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรปล่อยในเวลาที่ฝนตกหรือแดดร้อนจัด เพราะแพะอาจเจ็บป่วยได้
การเลี้ยงแบบขังคอก การเลี้ยงแบบนี้จะขังแพะไว้ในคอก ซึ่งจะมีแปลงหญ้าเพื่อให้แพะได้กิน บางครั้งต้องตักหญ้าให้แพะกินบ้าง ในคอกควรมีน้ำและอาหารข้น ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้จะใช้เงินลงทุนสูง
การเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช คือ การปลูกพืชปะปนไปกับการเลี้ยงแพะ อาทิ ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน และปลูกมะพร้าว ในภาคใต้ของไทย เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแพะควบคู่ไปกับการทำสวนยางจำนวนมาก
โรงเรือนเลี้ยงแพะ
พื้นที่ตั้งคอกควรสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1-2 เมตร และมีบันไดทางขึ้นคอกทำมุม 45 องศา
พื้นคอกควรทำเป็นร่องเว้นระยะห่าง 1.5 เซนติเมตร เพื่อให้มูลหรือปัสสาวะของแพะร่วงลงมายังพื้นด้านล่าง จะได้ทำให้พื้นคอกแห้งและมีความสะอาดตลอดเวลา
ผนังคอกควรสร้างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และใช้ความสูงประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกัน ไม่ให้แพะกระโดดข้าม
สำหรับหลังคาโรงเรือน สามารถสร้างได้หลายแบบให้เหมาะสมกับสภาพอากาศหรือต้นทุนในการสร้าง แต่ควรให้หลังคาโรงเรือนสูงจากคอกประมาณ 2 เมตร
พื้นที่ในการเลี้ยงแพะ แพะแต่ละตัวต้องการพื้นที่ส่วนตัวละ1-2 ตารางเมตร หรือแล้วแต่ขนาดตัวของแพะ สามารถแบ่งคอกในโรงเรือนได้ตามการใช้งานต่างๆอาทิ คอกแม่แพะอุ้มท้อง, คอกสำหรับคลอดลูกแพะ, คอกสำหรับลูกแพะ และที่สำคัญคือ รั้วคอกแพะควรสร้างด้วยไม้ไผ่หรือลวดตาข่าย ไม่ควรใช้รั้วลวดหนาม เพราะจะทำให้แพะพลาดไปโดนได้
อาหารสำหรับเลี้ยงแพะ
- หญ้า เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าแพงโกล่า เป็นต้น
- พืชตระกูลถั่ว เช่น ฮามาต้า คาวาเคต กระถิน เป็นต้น
- ไม้พุ่ม เช่น ใบพุทรา ใบปอสา ใบมะขามเทศ เป็นต้น
- อาหารสำเร็จรูป
มาถึงตรงนี้ คงจะทราบกันแล้วว่า การเลี้ยงแพะก็ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป แต่ต้องใส่ใจดูแลในเรื่องของความสะอาดและอาหารการกินหน่อย เพราะแพะค่อนข้างเป็นสัตว์ที่ชอบความสะอาด หากดูแลรักษาอย่างดี รับรองว่าแพะจะแข็งแรงและไม่เป็นโรค แถมยังมีผลผลิตเป็นของตอบแทนให้พี่น้องได้ชื่นใจกันอีกด้วย ทั้งหมดนี้อีสานร้อยแปดก็หวังว่าบทความเรื่อง การเลี้ยงแพะ จะเป็นประโยชน์ และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่างเลยค่ะ
https://esan108.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%B0.html
http://pasusat.com/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%B0/
No comments:
Post a Comment