การปลูกหอมแดง
การปลูกหอมแดง
หอมแดงมีโครงสร้างเป็นหัวอยู่ใต้ดินเช่นเดียวกันกับหอมหัวใหญ่ แต่ว่ามีขนาดที่เล็กกว่า มีสีแดง กลิ่นฉุน นอกจากนั้นยังสามารถแตกตาข้างทำให้ได้หัวเล็กๆ เกาะติดอยู่ด้วยกันจำนวนมาก การเชื่อมติดจะติดอยู่ที่โคนลำต้น และหัวเล็กๆ นี้เองจะเป็นตัวขยายพันธุ์ต่อไป และเมื่อปลูกแล้วจะแตกเป็น 10 หัวเป็นอย่างมาก หอมแดงถูกนำมาใช้ในการบริโภคในลักษณะของพืชเครื่องแกงและผักชูรส อาจใช้เป็นผักแกล้มก็ได้เช่นกัน และเป็นที่นิยมมากในหมู่ประเทศแถบเอเชีย
พันธุ์ของหอมแดง
ที่นิยมปลูกในบ้านเรา คือ
1. หอมแดงพันธุ์พื้นเมืองภาคเหนือ ทางภาคเหนือเรียก หอมบั่ว เป็นหอมแดงที่มีเปลือกนอกสีเหลืองปนส้มขนาดหัวปานกลาง ลักษณะกลมสี ใน 1 หัวแยกได้ 2-3 กลีบ กลิ่นไม่ฉุนจัด รสหวาน ระหว่างการเจริญเติบโตไม่มีดอกและเมล็ด เมื่อปลูก 1 หัว จะแตกกอให้หัว ประมาณ 5-8 หัว อายุเมื่อหัวแก่เต็มที่ในฤดูหนาว 90 วัน และฤดูฝน 45 วัน ผลผลิตที่ได้แตกต่างกันตามฤดูปลูกและการดูแลรักษาได้ประมาณ 2000-3000 กิโลกรัม/ไร่ คุณภาพในการเก็บรักษาไม่ค่อยดี เพราะมีเปอร์เซ็นต์ แห้งฝ่อ และเน่าเสียหายมากถึง 60%
2. หอมแดงพันธุ์บางช้างหรือหอมแดงศรีสะเกษ เป็นหอมแดง ที่มีเปลือกนอกสีม่วงปนแดง เปลือกหนาและเหนียว ขนาดหัวใหญ่ สม่ำเสมอ หัวมีลักษณะกลมใน 1 หัว มี 1-2 กลีบ กลิ่นฉุนจัด มีรสหวาน ระหว่างการเจริญเติบโต จะสร้างดอกและเมล็ดมาก ซึ่งจะต้องหมั่นตรวจดูและเด็ดทิ้งให้หมด มิฉะนั้นจะทำให้ได้ขนาดหัวเล็ด และจำนวนหัวน้อย โดยทั่วไปเมื่อปลูก 1 หัวจะแตกกอให้หัวประมาณ 8-10 หัว การแตกกอและลงหัวช้ากว่าหอมบั่วเล็กน้อย มีอายุเมื่อหัวแก่เต็มที่ให้ฤดูหนาว 100 วันขึ้นไป และฤดูฝน 45 วัน ให้ผลผลิตแตกต่างกันไปตามฤดูปลูกและการดูแลรักษาได้ประมาณ 1000-5000 กิโลกรัม/ไร่ คุณภาพในการเก็บรักษาดีกว่าหอมบั่ว
แหล่งเพาะปลูก
แหล่งเพาะปลูกหอมแดง มากที่สุดคือ ภาคอีสาน ได้แก่ ศรีสะเกษ , บุรีรัมย์ , นครราชสีมา รองลงมาคือ ภาคเหนือ ได้แก่ ลำพูน , เชียงใหม่ , เชียงรายและอุตรดิตถ์ นอกจากนี้ยังมีปลูกกันที่ราชบุรี , กาญจนบุรี และนครปฐม ด้วย
ฤดูปลูก
ปลูกได้ตลอดปี ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือ เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
การเตรียมดินหอมแดงมีระบบรากตื้น ชอบดินร่วน มีการระบายน้ำดี แปลงปลูกควรไถพรวน หรือขุดด้วยจอบพลิกดินตากแดดไว้ก่อน 2-3 วัน แล้วย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก อย่าให้ละเอียดมาก เพราะจะทำให้ดินแน่น หอมลงหัวยากควรใส่ปุ๋ยคอก , ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลสัตว์ลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว เก็บเศษวัชพืช หรือรากหญ้าอื่น ๆ ออกให้หมดแล้วรองพื้นก่อนปลูกด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 ในปริมาณ 20-50 กิโลกรัม/ไร่
การเตรียมพันธุ์หอม
หัวหอมพันธุ์ที่จะใช้ปลูก ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน เพราะหัวหอมที่จะใช้ปลูกควรมีระยะพักตัวอยู่สักระยะหนึ่ง แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน เพราะระยะนี้หอมจะเริ่มแดงยอดอ่อนสีเขียวพ้นหัวเก่ามาแล้ว ให้นำหัวหอมพันธุ์มาตัดแต่งทำความสะอาด ตัดเล็มรากเก่า และใบแห้งทิ้งให้หมด หากเห็นว่ายอดอ่อนยาว อาจตัดทิ้งเสียสัก 1 ใน 10 เพื่อเร่งให้งอกไวเมื่อปลูกแล้ว ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่จะใช้หัวหอมพันธุ์ประมาณ 200 กิโลกรัม ก่อนปลูกหากเห็นว่าหัวหอมพันธุ์เป็นโรคราดำ หรือมีเน่าปะปนมา ต้องฉีดพ่นหรือจุ่มน้ำสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อราจำพวกมาเนบ หรือซีเนบ ตามอัตราที่กำหนดในฉลาก และผึ่งลมให้แห้งก่อนนำไปปลูก
ระยะปลูก
นิยมปลูกเป็นแปลงขนาดกว้าง 1-1.5 เมตร ความยาวของแปลง เป็นไปตามความสะดวกในการปฎิบัติงานควรปลูกเป็นแถว ระยะปลูก 15-20 ซม. หรือ 20-20 ซม.
การปลูก
ก่อนปลูกควรรดน้ำแปลงปลูกให้ดินชุ่มชื้นไว้ล่วงหน้า นำหัวหอมพันธุ์มาปลูกลงในแปลง โดยเอาส่วนโคนหรือที่เคยเป็นที่ออกรากเก่าจิ้มลงไปในดินประมาณครึ่งหัว ระวังอย่ากดแรงนักจะทำให้ลำต้นหรือหัวชอกช้ำจะทำให้ไม่งอก หรืองอกรากช้า เมื่อปลูกทั่วทั้งแปลงให้คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งหรือแกลบหนาพอสมควรเป็นการ รักษาความชุ่มชื้นและคุมวัชพืช จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม ๆ ต้นหอมจะงอกออกมาภายใน 7-10 วัน หากหัวใดไม่ลอกให้ทำการปลูกซ่อมทันที
การดูแลรักษา
การให้น้ำ หอมแดงต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอในระยะเจริญเติบโตและแตกกอ หากปลูกในที่ ๆ มีอากาศแห้งและลมแรง อาจต้องคอยให้น้ำบ่อย ๆ เช่น ภาคอีสาน ช่วงอากาศแห้งมาก ๆ ระยะแรกอาจให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ในภาคเหนือ เกษตรกรจะให้น้ำประมาณ 3-7 วันต่อครั้ง
การให้ปุ๋ย
- เมื่ออายุ 14 วัน หลังจากปลูก ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่
- เมื่ออายุ 35-40 วัน ให้ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 20-50 กิโลกรัม/ไร่
การใส่ปุ๋ยใช้วิธีโรยห่าง ๆ ต้นห่างจากต้นราว 7 ซม. หรือใช้วิธีโรยให้ทั่วแปลงก็ได้ หลังจากให้ปุ๋ยให้เอาน้ำรดหรือเอาน้ำเข้าแปลงให้ชุ่ม
การกำจัดวัชพืช
ควรกำจัดวัชพืชบ่อย ๆ เมื่อวัชพืชยังเล็ก หากโตแล้วจะทำการกำจัดยากและจะกระทบกระเทือนรากหอมแดงได้มาก ปัจจุบันนิยมใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมากขึ้นเพราะประหยัดแรงงานกว่า ตัวอย่างสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืชในแปลงหอมแดง ได้แก่ อลาคลอร์ อัตราการใช้ให้ใช้ตามที่ระบุในฉลากยา
โรคแมลง
- โรคที่สำคัญของหอมแดง ได้แก่ โรคเน่าเละ , โรคใบจุดสีม่วง , โรคราน้ำค้าง และ โรคแอนแทรคโนส
- แมลงศัตรูหอมแดงที่สำคัญ ได้แก่ หนอนกระทู้หอมและเพลี้ยไฟ
ควรฉีดยาฆ่าแมลงและยากันรา ที่ราคาไม่แพงนักทุก 7 วัน เพื่อป้องกันไว้ล่วงหน้า หอมแดงที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจะงอกงามและให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ
การเก็บเกี่ยวหอมแดง
หอมแดงนั้นสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 70-110 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และฤดูกาลในการปลูกด้วย หากปลูกในฤดูฝนซึ่งเป็นนอกฤดูการปลูก จะสามารถเก็บเกี่ยวหอมแดงได้เมื่อมีอายุได้ 45 วัน ซึ่งในการเก็บเกี่ยวนั้นก็ยังสามารถใช้การสังเกตได้ด้วย โดยให้สังเกตว่าสีของใบเขียวจางลงและเหลืองหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าหอมนั้นแก่พอที่จะทำการเก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 1,100 กิโลกรัม / ไร่ และในการจัดการหลังเก็บเกี่ยวนั้นให้ทำเช่นเดียวกับการปลูกหอมหัวใหญ่หรือกระเทียม
หากต้องการเก็บหอมไว้ใช้ในการเพาะพันธุ์ ก็จะต้องเลือกหัวที่มีความแข็งแรง ไม่มีโรคและแมลง ซึ่งควรเก็บเกี่ยวตอนแก่และจัดแยกส่วนเก็บไว้ทำพันธุ์ออกมาต่างหากจะส่วนที่นำไปขาย หลังจากนั้นให้นำไปผึ่งให้แห้ง แล้วจึงฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อราในอัตราที่เจือจางแล้วนำไปผึ่งให้แห้งอีกครั้งและเก็บไว้ในที่เย็นและแห้ง
http://www.rakbankerd.com
คนไทยนิยมนำหอมแดง มาเป็นส่วนประกอบเครื่องแกงเผ็ด เป็นส่วนประกอบของไข่เจียวหมูสับ ซุปหางวัว รับประทานสดโดยฝานเป็นแว่นบางๆ รับประทานร่วมกับแหนมสด เมี่ยงคำ ปลาเค็มทอดบีบมะนาว หอมแดงซอย กับพริกขี้หนูสวนหั่นฝอย เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกกะปิ หอมแดงเผาตำผสมกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกปลาทู น้ำพริกกุ้งสด และเป็นส่วนประกอบของหลนทุกอย่าง เป็นส่วนประกอบของขนมหวาน เช่น หอมแดงซอยเจียว ใส่ในข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ขนมหม้อแกงถั่ว และไข่ลูกเขย ( อาหารคาวหวาน ) ฯลฯ
สรรพคุณทางยา : หัวหอม มีรสฉุน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยและเจริญอาหาร แก้บวมน้ำ แก้อาการอักเสบต่าง ๆ ขับพยาธิ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เมล็ด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ ร่างกายซุบผอม (ใช้เมล็ดแห้ง 5-10 กรัมต้มน้ำดื่ม) ตำรายาไทยใช้หัวหอมแดง ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูก และกินเป็นยาขับลม หอมแดงมีสารเคอร์ซิติน และสารฟลาโวนอยด์ (quercetin และ flavonoid glycosides) อาจป้องกันโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ หอมแดงยังมีคุณสมบัติ เป็นยารักษาโรค ใช้ลดไข้และรักษาแผลได้ โดยเอาหัวหอมแดงมาซอยเป็นแว่นๆ ผสมกับน้ำมันมะพร้าวและเกลือ ต้มให้เดือด แล้วนำมาพอกแผล นอกจากนั้นหอมแดง ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยับยั้งเส้นเลือดอุดตัน ด้วยการบริโภคสด หรือประกอบอาหาร หรือบริโภคชนิดผง
No comments:
Post a Comment